ลำปาง - ผู้ปกครองสองเด็กหญิงวัย 9 และ 11 ขวบชาวแม่เมาะ วอนช่วยเหลือหลังป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจแต่ฐานะยากจน ขณะที่แพทย์ชี้ได้รับสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์แบบอ่อนๆ เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยทั้งหมดเตรียมเดินทางเข้ากรุงถวายฎีกา
วันนี้ (29 มี.ค.) รายงานข่าวจาก จ.ลำปาง แจ้งว่า หลังจากเว็บไซต์ข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ นำเสนอเรื่องราวของชาวบ้านแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้รับผลกระทบจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จนส่งผลกระทบให้มีผู้ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และกำลังได้รับผลกระทบมากขึ้น เมื่อคุณภาพอากาศในพื้นที่แอ่งแม่เมาะมีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เกินกว่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกันมาหลายวัน รวมถึงประเด็นข้อสงสัยเรื่องกระเทียมของชาวบ้าน ต.นาสัก อ.แม่เมาะ ที่เใบไหม้และแห้งตายยกหมู่บ้านนั้น
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจได้รับผลกระทบจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอีก คือ ด.ญ.พุทธิดา มะโนปิง อายุ 11 ขวบ อยู่บ้านทุ่งเลางาม หมู่ 9 ต.นาสัก และ ด.ญ.วรรณภา อินปัญโญ อายุ 9 ขวบ อยู่บ้านสบจาง หมู่ 6 ต.นาสัก โดยนางพุธชะบา มโนปิน มารดาด.ญ.พุทธิดา และนางปราณี อินปัญโญ มารดาด.ญ.วรรณภา ระบุว่า ต้องอดทนพาลูกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแม่เมาะ และโรงพยาบาลลำปาง ตั้งแต่ยังเล็ก เพราะมีอาการทางเดินหายใจ โดยหายใจติดขัด หอบหืด ปัจจุบันต้องกินทั้งยาและพ่นยา ทำให้สุขภาพอ่อนแอ ขาดเรียนเป็นประจำ ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียนได้ เนื่องจากครูไม่อนุญาตเพราะเกรงจะเป็นอันตราย ประกอบกับทางบ้านฐานะยากจน
“ละแวกเดียวกันมีเด็กๆ ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจอีกมาก แต่ก็ไม่กล้าออกมาพูด เพราะผู้นำหมู่บ้านห้าม จนทุกวันนี้ไม่รู้จะไปพึ่งใครแล้ว”
จากการสอบถามนางปราณี อินปัญโญ ทราบว่า ด.ญ.วรรณภาป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายในมาตั้งแต่เล็ก ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแม่เมาะ ทุกครั้งจะได้ยาแก้แพ้ ยาขยายหลอดลม ล่าสุดปี 2555 ที่ผ่านมามีอาการหนักขึ้นจึงพาไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลลำปาง แพทย์ระบุว่าระบบทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบเรื้อรัง เนื่องจากได้รับมลพิษทางอากาศต่ำๆ เป็นเวลานาน โดยมีความเห็นว่าน่าจะเกิดจากการสัมผัสฝุ่นเบา หรือซัลเฟอร์ไดออกไซค์ ขนาดอ่อนๆ เป็นเวลานาน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากเป็นเด็กเล็ก
ส่วน ด.ญ.พุทธิดา ไม่ได้นำตัวไปตรวจที่โรงพยาบาลลำปาง เนื่องจากผู้ปกครองไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเงินหมดหรือยาหมดก็จะไปหยิบยืมยาของ ด.ญ.วรรณภา ที่ใช้ยาตัวเดียวกันมากินก่อน
ทั้งนี้ สภาพภายนอกของเด็กทั้งสองคนมีร่างกายที่ซูบผอม น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หายใจหอบ และต้องพ่นยาทุก 4 ชั่วโมง ไม่ร่าเริงแจ่มใส ยาที่รับประทานและใช้เป็นประจำมีเป็นจำนวนมาก
นพ.วิฑูรย์ อนันตกุล นายแพทย์ด้านอาชีวะเวชกรรม โรงพยาบาลลำปาง ระบุถึงผลการตรวจร่างกายของเด็ก 2 รายนี้ว่า เกิดจากภาวะมลพิษทางอากาศ ซึ่งในพื้นที่แม่เมาะเคยประสบปัญหาเรื่องซัลเฟอร์ฯ มาตั้งแต่ปี 2535 แม้ปัจจุบัน กฟผ.จะใช้เครืองดักจับสารแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ 100% และที่รายงานมาก็มีเพียงค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วมลพิษทางอากาศจะต้องรับทราบค่าต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบด้วย เรียกว่าค่าดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งมีอยู่ 5 ประเภท คือ ก๊าซโอโซน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน นำมาคำนวณเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง แต่ที่ผ่านมา กฟผ.รายงานเพียงก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เท่านั้น
“หากมองเฉพาะค่ามาตรฐานของกฎหมาย ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะต้องไม่เกิน 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จะเห็นว่าต่างจากเกณฑ์มาตรฐานที่ทางกรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ ซึ่งได้แบ่งดัชนีคุณภาพอากาศไว้ 5 ระดับ คือ 0-50 คุณภาพดี 51-100 คุณภาพปานกลาง 101-200 มีผลกระทบต่อสุขภาพ 201-300 มีผลกระทบต่อสุขภาพมาก ถ้ากฟผ.รายงานว่าเดือนกุมภาพันธ์ พบค่าซัลเฟอร์ไดออกไซ์สูงสุดอยู่ในระดับ 123-149 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. หมายความว่ายังมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ส่วนค่ามาตรฐานของกฎหมายที่จะต้องไม่เกิน 780 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. ควรใช้เฉพาะผู้ที่แข็งแรงเท่านั้น”
นพ.วิฑูรย์กล่าวว่า ประเด็นคือเมื่อ กฟผ.ระบุว่าค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่เกินมาตรฐาน แต่ทำไมยังมีผู้ที่เจ็บป่วยอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งในทางวิชาการจะบอกได้ว่ากลุ่มเด็กและผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้จะสัมผัสในระดับที่ไม่สูง แต่เมื่อได้รับต่อเนื่องนานๆ จะเกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งกลุ่มพวกนี้จะมีปัญหาตั้งแต่เกิด ดังนั้นในกลุ่มเด็กต้องสังเกตอาการ เพราะอาจจะไม่เฉพาะทางเดินหายใจ อาจจะมีอาการปวดหัว มีไข้ต่ำโดยไม่ทราบสาเหตุ และอาจมีเสมหะมากกว่าปกติ ส่วนทางอ้อมจะเจริญเติบโตที่ช้าลง น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ รวมถึงไอคิวด้วย
“ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพราะประชาชนยังคงเจ็บป่วย ส่วนจะบอกว่าใครเป็นคนทำให้เกิดคงจะไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือคนที่ป่วยแล้วจะช่วยเขาได้อย่างไรมากกว่า”
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้หารือกันเป็นการภายในและมีมติจะรวมตัวกันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ หลังจากที่ต้องต่อสู้ทางกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างยาวนาน แต่ไม่เป็นผล ทั้งยังมีจำนวนเจ็บป่วยเรื้อรังเพิ่มขึ้นตลอดเวลา