xs
xsm
sm
md
lg

สกัดวุ่น! “ปลอด” เข้าแพร่ เจอชาวสะเอียบฮือไล่ ไม่วายขู่ 3.5 แสนล้านไม่ทำบ้านเมืองจม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - “ปลอดประสพ” ลงพื้นที่เมืองแพร่ หวิดเจอม็อบชาวสะเอียบตามไล่ ฐานผลักดันสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น-ยมบน ยมล่าง จนผู้ว่าฯ ต้องวิ่งโร่เข้าเจรจาสกัดไม่ให้เข้าตัวจังหวัด บอกเดี๋ยวไม่ปลอดภัย พร้อมยันแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ยังไม่ลงตัว ด้าน “ปลอด” ไม่วายขู่ ถ้าไม่ทำบ้านเมืองจม

วันนี้ (10 ต.ค.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ. ได้เดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดแพร่ เพื่อเตรียมการเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดแพร่ โดยเน้นเรื่องรถไฟความเร็วสูงผ่านแพร่ไปเชียงราย เรื่องศูนย์พักสินค้าภาคเหนือ ถนน 4 เลน เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งการพัฒนาสินค้าโอทอปของจังหวัดแพร่ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกและกลุ่มประเทศ GMS ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ก็ได้รวมตัวกันกว่า 300 คน เดินทางโดยขบวนรถหลายสิบคันมาชุมนุมเปิดเวทีปราศรัยที่สนามฟุตบอลหน้าที่ว่าการอำเภอสอง พร้อมกับอ่านจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี

นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้กล่าวว่า ชาวบ้านทราบข่าวว่า นายปลอดประสพ จะเดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดแพร่ จึงพากันมาชูป้ายขับไล่ เพราะนายปลอดประสพ เป็นตัวผลักดันเขื่อนทำลายป่าสักทอง ทั้งเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง รวมทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เราก็ไม่เอา เราเสนอให้พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางขนาดเล็กตามลำน้ำสาขา ทั้ง 77 ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอีกทั้งหมด 12 ข้อ โดยชาวบ้านได้ทำเป็นจดหมายถึงท่านนายกรัฐมนตรีด้วย

นางจินจำ สะเอียบ อายุ 37 ปี ชาวบ้านตำบลสะเอียบ บ้านเลขที่ 233 หมู่ 9 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำมีหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อน ซึ่งชาวสะเอียบได้ยื่นข้อเสนอให้แก่รัฐบาลสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กแทนในทุกๆ ลุ่มน้ำ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำได้ ปัญหาน้ำท่วมอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีของรัฐ ไม่เกี่ยวกับการมีเขื่อน หรือไม่มีเขื่อน ที่สำคัญชาวบ้านอยู่ที่ตำบลสะเอียบมานาน จะขอคัดค้านต่อไป เพราะไม่ต้องการให้มีเขื่อน ไม่ต้องการโยกย้ายถิ่นฐานไปที่อื่นๆ และยืนยันว่า จะต่อสู้ต่อไป ที่สำคัญเชื่อในพลังการต่อสู้ของประชาชนว่าจะสามารถต่อสู้คัดค้านได้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ชาวสะเอียบรวมตัวกันนั้น นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้เร่งเดินทางไปเจรจาให้ชาวสะเอียบ ยุติการเดินทางมายังหอประชุมดังกล่าว โดยอ้างว่า การเดินทางมาชุมนุมประท้วงอาจมีความไม่ปลอดภัย เนื่องจากมีกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนมาร่วมประชุมด้วย

จากนั้น นายอภิชาติ ได้เข้าเจรจากับตัวแทนชาวบ้านกว่า 20 คน โดยผู้ว่าฯ ยืนยันว่า ขณะนี้แผนหรือนโยบายของรัฐบาลนั้นยังไม่ลงตัว ส่วนจังหวัดแพร่นั้นไม่ได้มีการเสนอให้สร้างเขื่อน แต่ได้เสนอให้สร้างอ่างพวงเป็นอ่างขนาดกลางขนาดเล็กหลายอ่าง เพื่อจะได้น้ำรองรับในหน้าแล้ง

นอกจากนี้ ต่อไปยุทธศาสตร์จังหวัดแพร่ ก็จะพัฒนาเรื่องเหล้าตำบลสะเอียบ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ของจังหวัด ให้เป็นเหล้าเหมาไถ ซึ่งเป็นการยกระดับเหล้าให้ดีขึ้นเพื่อการส่งออก พร้อมกับจะแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำอีกด้วย

“ขอให้พี่น้องชาวสะเอียบ สบายใจได้ ผมเป็นคนเมืองแพร่ อย่างไรผมก็ต้องช่วยพี่น้องเมืองแพร่ ในเรื่องน้ำจังหวัดเรามีแผนการจัดการอ่างพวงซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็กหลายตัวพ่วงกันเป็นพวง ตามแนวพระราชดำริ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ส่วนท่านรองนายกฯ ท่านมาเรื่องแผนยุทธศาสตร์พัฒนาภาคเหนือ เรื่องรถไฟความเร็วสูง พวกเราอย่าได้กังวลใจ ผู้ว่าฯ คนเมืองแพร่รับรอง” นายอภิชาติ กล่าว

จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ลงมารับหนังสือจากชาวบ้านที่หน้าที่ว่าการอำเภอสอง ซึ่งมีชาวบ้านกว่า 300 คน ถือป้ายผ้าคัดค้านเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น และป้ายไล่นายปลอดประสพ โดยผู้ว่าฯ รับปากที่จะนำหนังสือข้อเรียกร้องของชาวบ้านส่งต่อถึงนายกรัฐมนตรี และปราศรัยชี้แจงชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านยุติการชุมนุม และแยกย้ายเดินทางกลับ

ด้านนายปลอดประสพ กล่าวว่า ถ้าเป็นความต้องการของคนแพร่ เราจะสร้าง เพราะเขื่อนยมบนยมล่าง แก้ไขปัญหาน้ำท่วมถาวร และทำให้ชาวแพร่ มีน้ำตลอดปี สามารถพึ่งพาน้ำทางการเกษตรได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ข้าวหอมมะลิ เช่นเดียวกัน หน้าน้ำท่วมจังหวัดแพร่ไม่ได้เป็นต้นน้ำ น้ำไม่ท่วม เขื่อนยมบนยมล่างอยู่ในจุดที่ไม่มีประชาชนอยู่ ไม่มีใครเดือนร้อน โดยกำหนดจะทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 6 พ.ย.56 นี้ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วม

“เรื่องนี้ได้โอนไปให้กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นคนดำเนินการ ผมเป็นคนรอรับผลว่า ผลจะออกมาอย่างไร ถ้าเจ้าของบ้านบอกไม่ต้องทำรัฐบาลก็ไม่ต้องทำ แต่ถ้าเจ้าของบ้านบอกว่าต้องทำ รัฐบาลก็ทำ ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในงบประมาณ 3.5 แสนล้านเป็นไปได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้บ้านเมืองจะจม สำหรับคนที่ไม่เอาแบบวิธี 3.5 แสนล้าน ท่านจะเอาแบบใดมาแทน ท่านก็ตอบไม่ได้ ทั้งนี้ การสร้างหรือไม่สร้างขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน การตัดสินใจของประชาชนเป็นที่สุด”








กำลังโหลดความคิดเห็น