หมายหัว "สักเมืองแพร่" โค่นทำถนน 4 เลน จ่อถึงสวนป่า 2495-98
การขยายถนนภายใต้ข้ออ้างสวยหรู ทั้งรองรับความเจริญ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ล้วนส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางขึ้นสู่เขาใหญ่ จ.นครราสีมา ที่สุดท้ายเครือข่ายนักอนุรักษ์ ภาคประชาชน ต้องพึ่งศาลปกครอง ให้รัฐคืนชีวิตให้กับไม้ใหญ่ริมทาง ที่ถูกโค่นไปเพื่อขยายผิวจราจร
ขณะที่ต้นยางนาร้อยปี ริมทางเชียงใหม่-ลำพูน ภาคประชาชนต้องร่วมแรงร่วมใจกันบวชด้วยผ้าเหลืองทุกต้น คัดค้านไม่ให้ตัดทิ้งเพื่อขยายเส้นทาง จนกลายเป็น "ถนนสายต้นยาง" ยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้
ล่าสุด เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ กำลังจะเกิดขึ้นบนทางหลวงหมายเลข 1032 แพร่-ลอง ไปตามซอกเขาของอุทยานแห่งชาติดอยผากลอง ระยะทางรวม 35 กิโลเมตร ที่มีต้นสักน้อยใหญ่ ทั้งที่ปลูกไว้และขึ้นเองตามธรรมชาติ เรียงรายทั้ง 2 ข้างทางนับพันต้น จนถูกเรียกขานว่าเป็น "ถนนสักร่มรื่น"
ภายใต้หลักการและเหตุผลที่สวยหรูว่า เป็นการพัฒนาเส้นทางคมนาคม เพื่อ รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จาก 2 เลนเป็น 4 เลน ต่อจากช่วงที่ 1 จากเขตเทศบาลเมืองแพร่ ข้ามแม่น้ำยม ไปถึงหมู่ 3 ต.ป่าแมต อ.เมือง ที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2555
โดยแผนแขวงการทางจังหวัดแพร่ จะดำเนินการเป็นช่วงๆตามงบประมาณปกติ ซึ่งระยะแรกจะขยายพื้นผิวจราจรถนนสายนี้ 2 กิโลเมตรเศษ จากกม.ที่ 1.19 - 4.45
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าสำรวจ และทำเครื่องหมายไว้ที่ต้นสัก และไม้อื่น ที่จะต้องตัดออกเพื่อขยายถนนระยะทาง 2 กิโลเมตรเศษไว้แล้ว ทั้งหมดเป็นไม้ไม้ขนาดใหญ่ เส้นรอบวง 100-149 เซนติเมตร แยกเป็นต้นสัก 457 ต้น กระยาเลย 124 ต้น รวม 581 ต้น
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวยอมรับว่าได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าวแล้ว โครงการนี้ทางแขวงการทางเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะทำเป็นช่วง ส่วนจะตัดต้นไม้ใหญ่ 2 ข้างทางหรือไม่ อยู่ในขั้นตอนขออนุญาตจากกรมป่าไม้ ซึ่งอธิบดีจะเป็นผู้อนุญาตให้ตัด หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง
อย่างไรก็ตามจังหวัดไม่เห็นด้วยที่จะให้ตัดต้นไม้ใหญ่ออก จึงได้ทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ ขอใช้ประโยชน์จากต้นสักเกือบ 500 ต้น ที่อนุญาตให้แขวงการทางจังหวัดแพร่ตัด เพื่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวั(อบจ.) ทำการหรือขุดล้อมแล้วเคลื่อนย้ายไปปลูกในที่แห่งใหม่
เช่น ที่ศูนย์ประชุมเออีซี บ้านกอเปา อ.เมือง หรือที่ศูนย์ราชการ ต.ห้วยม้า อ.เมือง ส่วนต้นขนาดใหญ่อาจนำไปปลูกที่ประตูสู่ล้านนา อ.เด่นชัย ทั้งนี้เพื่อรักษาต้นสักล้ำค่าเอาไว้ และและสร้างอัตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว
ขณะที่นายวิเศษศักดิ์ ทองประดิษฐ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วนวัตร จ.แพร่ กล่าวว่า ต้นสักและไม้อื่นที่ขึ้นอยู่เรียงรายตลอดเส้นทางสายนี้ มีความเป็นมาหลายยุค มีทั้งที่ปลูก และขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะต้นสัก มีทั้งต้นที่เป็นสายพันธุ์ดี สูงโปร่ง ลำต้นตรง ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งไม่ควรตัดทิ้ง แต่ควรจะขุดล้อมไปปลูกในที่เหมาะสม เพื่อเป็นแม่พันธุ์ไม้ต่อไป ส่วนต้นที่ไม่สวย หมายถึงมีกิ่งก้านมาก ควรตั เพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ต่อไป
ซึ่งในช่วงกม.ที่ 1.19-4.45 นั้น มีการดำเนินการเสร็จทุกขั้นตอนแล้ว การสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านไปแล้ว เป็นเหตุผลที่จะต้องตัดออก หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อขยายถนน ส่วนการตัดเพิ่มอีกในแปลงต่อไป ต้องขออนุญาตในปีต่อไป เมื่อมีงบประมาณ
โดยบริเวณที่ขออนุญาตตัด เป็นเขตของกรมทางหลวง ส่วนช่วงต่อไปเป็นเขตของสวนป่า เป็นแปลงปลูกของสวนป่าปี 2495-2498 เป็นป่าปลูกรุ่นแรกๆของประเทศไทย ปัจจุบันกรมป่าไม้ ใช้สวนป่าสักนี้ เพื่องานวิจัยและเก็บพันธุ์ไม้แหล่งสำคัญของประเทศแห่งหนึ่ง
"ที่นี่เป็นพื้นที่สร้างองค์ความรู้ด้านไม้สักของประเทศไทย และเคยอยู่ในตัวเลือกที่จะนำไปทำเสาชิงช้า แต่เนื่องจากเส้นทางคดเคี้ยว และระยะทางลำบาก ทำให้ต้องหันไปใช้ต้นสักที่อ.เด่นชัย"นายวิเศษศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กลุ่มประชาสังคม และนักอนุรักษ์ในจังหวั เริ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการตัดไม้แล้ว ด้วยเหตุผลที่ต้องการเก็บธรรมชาติที่สวยงาม 2 ข้างทางสายนี้เอาไว้ เพราะมีเสน่ห์มากสำหรับนักท่องเที่ยว หรือผู้ใช้ถนนที่ผ่านไปมา
และเพื่อคงอัตลักษณ์ของจังหวัดแพร่ ตามคำขวัญ "หม้อห้อม ไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลื่อเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม"
พวกเขามองว่าธรรมชาติที่สวยงามเช่นถนนสายนี้หาได้ยากแล้วในประเทศไทย เนื่องจากมีการขยายถนน และตัดต้นไม้ออกทุกแห่ง เฉพาะจ.แพร่ มีการพัฒนาถนนเกือบทุกสาย เช่น สาย 103 (อ.งาว ลำปาง-อ.สอง จ.แพร่) สาย 101 (น่าน-แพร่- สุโขทัย) สาย 11 (ลำปาง -แพร่) เส้นทางเหล่านี้ถูกพัฒนาเป็น 4 ช่องจราจร และตัดต้นไม้ 2 ข้างทางออกทั้งสิ้น
นางนฤมล วงศ์วาน ชาวแพร่ที่มีบ้านอยู่ในเส้นทาง 1032 แพร่-ลอง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะตัดไม้สักและไม้อื่นเพื่อขยายถนนสายนี้ เพราะ 1.ไม่มีความจำเป็นต้องขยาย เนื่องจากมีการขยายถนนอุตรดิตถ์-เด่นชัย-ลำปาง เป็น 6-8 เลนไปแล้ว 2.การตัดขยายถนนน่าจะมีการบูรณาการทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง โดยให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร้องขอ ร่วมวางแผน ร่วมอนุมัติ และวางแผนบำรุงรักษาร่วมกัน
3.อยากขอให้ใช้ถนนเส้นนี้ที่เราเรียกว่า "ถนนสักร่มรื่น" เป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือกันพัฒนาเมืองให้มีความเจริญ ผ่านการคมนาคมพื้นฐาน เพื่อให้ได้ประโยชน์กับคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ขณะที่นายเชษฐา สุวรรณสา ศิลปินวาดภาพ เจ้าของร้านกาแฟสดการแฟแห่ระเบิด ริมถนนสายนี้ และเป็นคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน(กรอ.)แพร่ กล่าวว่า ใครก็ทราบดีว่าจุดเด่นของเมืองแพร่ คือ ไม้สัก ที่ปัจจุบันเหลือน้อยเต็มที คนที่เดินทางมาจ.แพร่ ขับรถไปตามเส้นทาง เชื่อว่ามีความคาดหวังว่า จะต้องเจอไม้สัก และเกิดสุนทรีย์ภาพ เป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีกับเมืองแพร่
"การขยายถนนก็เป็นสิ่งจำเป็นถ้าปริมาณรถมีมาก แต่ขอให้เอาต้นไม้เหล่านี้ไว้ด้วยได้หรือไม่ เช่น ใช้แนวต้นไม้เป็นเกาะกลาง ซึ่งก็น่าสนใจ จริงๆแล้วเราควรตั้งคำถามก่อนว่าการพัฒนาที่แท้จริงคืออะไร ถ้าเราคิดครบถ้วนน่าจะดีกว่าทำไปตามระบบ ตัดสร้าง ตัดสร้าง ผมคิดว่าน่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้"
ส่วนทางเลือกของจังหวัด ในการขุดล้อมต้นสักออกไปปลูกที่อื่นนั้น สำหรับต้นสักขนาดใหญ่น่าจะเป็นเรื่องยาก และการตั้งอยู่ ณ จุดเดิมมันสุนทรีย์กว่า และยังเป็นการอนุรักษ์ถนนสายที่สวยที่สุดของจังหวัดแพร่ไว้ด้วย
"ฤดูฝน ถนนสายนี้น่าจะมีเทศกาลดอกสักบานมากกว่า"