xs
xsm
sm
md
lg

คณะอนุ กมธ.สิทธิฯ พบกลุ่มประมง-ร้านอาหารหาดแม่รำพึง เพื่อรับเรื่องร้องเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะอนุกรรมการสิทธิฯพบกลุ่มประมง- ร้านอาหารหาดแม่รำพึง  เพื่อรับเรื่องร้องเรียน
ระยอง - คณะอนุกรรมการสิทธิฯ พบกลุ่มประมง และผู้ประกอบการร้านอาหารหาดแม่รำพึงหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ล่าสุด ประมงเรือเล็กร่วมกรอกแบบฟอร์มใหม่ยอดทั้งสิ้น 1,100 ลำ เรียกร้องเบื้องต้นวันละ 2,000 บาท รวม 60 วัน

วันนี้ (9 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ทำการชมรมผู้ประกอบการร้านค้า หาดแม่รำพึง หมู่ 5 ต.ตะพง อ.เมืองระยอง นายแพทย์ นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายประยงค์ ดอกลำไย นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ อาจารย์ ประสาท มีแต้ม ดร.อาภา หวังเกียรติ นายวิโชติศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เดินทางมารับฟังปัญหากลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง นำโดยนายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงฯ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันดิบรั่วกลางทะเล เพื่อเยียวยาทั้งกลุ่มประมงและผู้ประกอบการร้านค้าชายหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมืองระยอง ที่ได้รับผลกระทบ

นายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง มากรอกรายละเอียดค่าเสียหายตามแบบฟอร์มของสมาคมฯ จัดหามาให้ มีการลงรายละเอียดความเสียหายที่ชัดเจนของแต่ละราย จากนั้นต้องมาหาค่าเฉลี่ยที่เป็นกลาง แต่เบื้องต้นคาดว่าจะขอรับการชดเชยวันละ 2,000 บาท ระยะเวลา 60 วัน ไม่ใช่วันละ 1,000 บาท 30 วัน ตามที่จังหวัดเสนอมา แต่เรื่องนี้สามารถเจรจาพูดคุยกันได้ โดยให้ ปตท.ลงมาพุดคุยกับกลุ่มประมงบ้าง

ขณะนี้มีกลุ่มสมาชิกประมงมากรอกแบบฟอร์มของเราจำนวนทั้งสิ้น 1,100 ลำ โดยที่เราไม่ยอมรับแบบฟอร์มของทางจังหวัด ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อยื่นให้ นพ.นิรันดร์ ในเร็วๆ นี้

ด้านกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าหาดแม่รำพึง กล่าวว่า พวกเราได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาเที่ยวชายหาดแม่รำพึง หลังมีข่าวอาหารทะเลเป็นพิษจากคราบน้ำมัน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงขาดรายได้มาหลายวัน ฝากให้คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ช่วยเหลือในเรื่องการชดเชยเยียวยาจากทางจังหวัด เนื่องจากแบบฟอร์มที่ให้กรอกรายละเอียดมีข้อความลักษณะที่คอยจับผิดกับผู้ได้รับผลกระทบครั้งนี้

ทางด้าน นายลาภสิน พุฒซ้อน ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบล (เกาะเสม็ด) ได้ยื่นหนังสือให้ นพ.นิรันดร์ มีรายละเอียดว่าเรื่องการเยียวยาชาวเกาะเสม็ดเบื้องต้นระยะสั้น การเก็บคราบน้ำมันชายฝั่งและใต้ทะเล การฟื้นฟูระบบนิเวศ การสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยอาหารทะเล เปิดเวทีเพื่อหาทางออกร่วมกัน ระยะกลาง ติดตามการฟื้นฟูระบบนิเวศ ฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนอย่างต่อเนื่อง ติดตามเรื่องสุขภาพ ให้มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาดำเนินการติดตามและศึกษาปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ร่วมกับองค์กรชุมชน ต.เพ อย่างต่อเนื่อง

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ต้องมารับฟังรับรู้ความเห็น และข้อเท็จจริงซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิฯ และจะขอสรุปสั้นๆ รวม 3 เรื่อง 1.กรณีที่กลุ่มประมงร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนและชดเชยการเยียวยาเป็นสิทธิที่เป็นอำนาจอันชอบธรรมที่เราจะต้องได้รับประโยชน์ และความถูกต้อง หน่วยงานรัฐจะต้องมารับใช้ประชาชนตามกฎหมายเรื่องสิทธิกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปขอความเมตตาสงสาร แต่เป็นสิทธิที่เราต้องได้ตามกฎหมาย ถ้าไม่ได้แสดงว่าเราถูกละเมิด แสดงว่าหน่วยงานรัฐไม่สนใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่จะมาช่วยเหลือ แต่ท่าทีของข้าราชการที่จะมารับฟังความคิดเห็นตามสิทธิที่มีอยู่จะต้องไม่ใช่เป็นเรื่องที่มาให้เรากรอกแบบฟอร์ม ไม่ใช่ก่อให้เกิดในลักษณะการข่มขู่ และลักษณะเกรงว่าจะถูกจับ หรือถูกฟ้อง หน่วยงานรัฐต้องทำการรับฟังการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องผลกระทบน้ำมันรั่ว

นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า หน่วยงานของรัฐจะต้องมาทำให้สิทธิของประชาชนเกิดขึ้นให้ได้ 1.สิทธิประชาชนจะต้องได้รับรู้ความจริง เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ ไม่ใช่มาออกสื่อว่าไม่มีปัญหาแล้ว

2.กรณีที่น้ำมันรั่ว ใครเป็นผู้กระทำให้เกิดสารพิษเกิดขึ้นคนนั้นต้องรับผิดชอบคือ ปตท.จะต้องรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบต่อประชาชน ต้องให้ความเป็นธรรมเรื่องการชดเชยเยียวยา และการฟื้นฟู ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แบบฟอร์มที่กรอกรายละเอียดต้องตรงกับความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องมาขู่ องค์กรท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมเป็นตัวแทนร่วมกับผู้นำชุมชน แต่ขณะนี้ได้รับทราบว่าผู้ได้รับผลกระทบเกรงกลัวเรื่องการกรอกแบบฟอร์มของหน่วยงานรัฐจะถูกฟ้องดำเนินคดี

ดังนั้น ในเวลาที่มีความเดือดร้อนต้องเอาความจริงเป็นตัวตั้ง ถ้าเรามั่นใจว่าเป็นจริงก็ไม่ต้องกลัวความผิด มาตรการบางอย่างเรื่องของกฎหมายจะเอาสรรพากรตรวจสอบ มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมาเอาความผิดกัน เพราะประชาชนเป็นผู้เดือดร้อน ไม่สมควรที่จะเอาเรื่องกฎหมายมาเป็นตัวตั้ง ดังนั้น ผู้ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนต้องไปบอกให้หน่วยงานรัฐว่าแบบฟอร์มดังกล่าวขาดมิติการมีส่วนร่วม แต่แบบฟอร์มของเรามีรายละเอียดแสดงความเดือดร้อนอย่างครบถ้วนโดยมีผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรเป็นหลักประกัน

3.สิทธิเรื่องการได้รับการชดเชยเยียวยาทั้งระยะสั้น และระยะยาว ปตท.ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบในการติดตาม และต้องมีคำตอบว่ากรณีน้ำมันรั่วจะมีมาตรการในการฟื้นฟูอย่างไรบ้าง ต้องมาบอกให้คนระยอง และคนเกาะเสม็ด นี่เป็นสิทธิ 3 สิทธิที่ผู้ได้รับผลกระทบ มีอำนาจที่จะบอกให้รัฐมาปฏิบัติให้แก่พวกเรา ไม่ใช่เราต้องไปร้องขอให้เขาเมตตาสงสารเพราะนี่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า กรณีเรื่องการชดเชยเยียวยาเบื้องต้นซึ่งขณะนี้จังหวัดได้ประกาศชดเชยไปส่วนหนึ่งแล้ว ส่วนที่สองคงจะต้องให้ชุมชนได้มีส่วนไปเสนอความประสงค์ที่จะขอรับการชดเชย แล้วเอาข้อมูลมาพิจารณาถึงความเสียหายอีกครั้ง โดยหลักแล้วจังหวัดควรจะจ่ายในเรื่องสิ่งที่จำเป็น

เช่น อวนเรือประมงที่ได้รับผลกระทบคราบน้ำมัน เรื่องผลกระทบกับวิถีชีวิต เช่น ออกไปจับปลาไม่ได้ หามาแล้วขายไม่ได้เรื่องนี้ต้องมาคุยกันใหม่ ต้องทำให้เป็น 2-3 ขั้นตอนในการเยียวยาอย่าไปตีขลุมรวมทีเดียววันละ 1,000 บาท รวม 30 วัน มันจะทำให้ไม่สมดุลกับทุกอาชีพที่ได้รับผลกระทบ ผมคิดว่าเป็นเกณฑ์การพิจารณาที่ไม่เหมาะสม และถูกต้องเท่าไหร่
กลุ่มสมาชิกประมงมากรอกแบบฟอร์มของเราจำนวนทั้งสิ้น 1,100 ลำ เพื่อเรียกร้องผลกระทบที่เกิดขึ้น วันละ 2,000 บาท นาน 60 วัน
นายจัตุรัส  เอี่ยมวรนิรันดร์   นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง เรียกร้องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากน้ำมันรั่วไหล
กำลังโหลดความคิดเห็น