xs
xsm
sm
md
lg

นายกไก่สุดทน รัฐบาลไม่รู้จริงปัญหาปศุสัตว์ไทย ชี้ไม่พ้นวิกฤตทั้งระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางฉวีวรรณ คำพา
ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย สุดทนนโยบายประชานิยมรัฐบาลที่กำลังฉุดเศรษฐกิจไทยให้ตกต่ำในทุกภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มปศุสัตว์ที่กำลังเผชิญปัญหาทั้งการส่งเสริมทางการเงิน และสนับสนุนผู้ส่งออก ชี้หากกระทรวงการคลัง ยังไม่เร่งแบงก์รัฐปล่อยกู้อัดฉีดการผลิต สุดท้ายกลุ่มปศุสัตว์ไม่พ้นเจอวิกฤตแน่

วันนี้ (3 ก.ค.) นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลมีโครงการประชานิยม ทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งขณะนี้กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากหวังเพียงฐานคะแนนเสียง แต่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และวันนี้ ก็ยังคงเดินหน้าประชานิยมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทบทวน หรือหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ

โดยเฉพาะวงการปศุสัตว์ ที่ปัจจุบันผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าแรงงาน ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และวัตถุดิบ กล่าวคือ เงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่เท่าเดิม แต่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากการปรับราคาสินค้า หลังรัฐประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จนไม่สามารถประกอบกิจการให้ถึงจุดคุ้มทุนได้ ดังนั้น ในอนาคตอาจได้เห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทยอยปิดตัวลง

“รัฐบาลมุ่งเพียงคะแนนเสียง แต่ไม่เคยคิดหาทางออกให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ซึ่งวันนี้ภาคปศุสัตว์ที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก รวมทั้งคนที่อยู่ในระบบนับล้านคน กำลังได้รับผลกระทบจากความเข้มงวดของธนาคารที่ไม่ปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เมื่อผู้ประกอบการล้มก็ยังจะซ้ำเติมอีก ซึ่งปลายปีที่ผ่านมา สมาคมได้ทำหนังสือนำเสนอความเดือดร้อนถึงกระทรวงการคลังแล้ว แต่ถึงวันนี้ปัญหาก็ยังคงถูกละเลย”

นางฉวีวรรณ กล่าวว่า ผู้ประกอบการต่างทราบดีว่าปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของลูกจ้างเพิ่มสูงขึ้น และผู้ประกอบการก็มีความยินดีที่จะเพิ่มค่าจ้าง เพื่อให้รายรับ-รายจ่ายของลูกจ้างมีความสมดุล แต่ในทางปฏิบัติ กลับสร้างภาระหนักให้ผู้ประกอบการ เพราะสินค้าที่ผลิตได้กลับขายไม่ถึงจุดคุ้มทุน จากปัญหาค่าเงินบาท และต้นทุนที่เพิ่มถึงเท่าตัว จึงรู้สึกห่วงใยพี่น้องเกษตรกร และผู้ประกอบการ เพราะหากปล่อยให้เป็นไปในลักษณะนี้ต่อไป จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จึงได้พยายามนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อมวลชน เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ตื่นจากฝัน และทบทวนมาตรการประชานิยม แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลเท่าที่ควร

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องช่วยตนเอง ซึ่งรายใดพอมีนำทรัพย์สินส่วนตัวก็นำมาใช้ประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไป แต่ผู้ที่ขาดสภาพคล่องก็จำเป็นต้องปิดกิจการ ขณะที่ภาคการส่งออกในหลายภาคส่วนก็ไม่มีการขยายตัว ผลที่ตามมาคือ การปลดคนงาน และบางแห่งอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ คาดว่าปี 2556 จะเห็นภาพการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้ที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจ

ซึ่งในสภาวการณ์เช่นนี้ กระทรวงการคลัง จำเป็นต้องกำหนดนโยบายให้ธนาคาร และสถาบันการเงินผ่อนปรนเรื่องมาตรการสินเชื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีสภาพคล่องเพียงพอระดับหนึ่ง จากที่ผ่านมา ที่ธนาคารใช้มาตรการเข้มงวด จนไม่สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ได้ทันท่วงที

“รัฐบาลมีความสามารถในการช่วยเหลือได้ เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบาย รวมทั้งรัฐมนตรี และ ส.ส. ซึ่งเป็นคนที่ขันอาสาเข้ามาดูแลประเทศชาติ แล้วเพราะเหตุใดจึงยังนั่งอยู่ในตำแหน่งได้แบบสบายๆ โดยไม่คิดจะทำอะไรเพื่อประชาชน และประเทศชาติให้เหมือนกับที่หาเสียงบ้าง”
กำลังโหลดความคิดเห็น