xs
xsm
sm
md
lg

นายกสมาคมฯ ไก่จี้รัฐเปิดตาดูผลกระทบประชานิยม ชี้ค่าแรง 300 ทำปีหน้า SMEs ปิดตัวเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทุ้งรัฐบาลให้ตื่นจากฝัน พร้อมรับฟัง และเปิดตาดูผลกระทบของประเทศที่จะเกิดจากโครงการประชานิยม ชี้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทพร้อมกันในปี 2556 จะทำให้เห็นภาพการปลดคนงาน และการปิดตัวของกลุ่ม SMEs สายป่านสั้นมากขึ้น และอาจนำมาซึ่งภาพการประท้วงของกลุ่มแรงงานต่างๆ การช่วยเหลือผู้ประกอบการ และกระตุ้นแบงก์รัฐให้ลดความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ อาจนำมาซึ่งวิฤกตเศรษฐกิจของประเทศ

นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้เลี้ยงไก่ครบวงจรเพื่อการส่งออกเนื้อไก่ดิบ และเนื้อไก่ปรุงสุกไปยังประเทศแถบยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น รวมทั้งตะวันออกกลางในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล เผยถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับจากโครงการประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาลที่หวังเพียงฐานคะแนนเสียง โดยไม่คำนึงผลกระทบที่ผู้ประกอบการ และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้รับ

โดยเฉพาะการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทในทุกจังหวัดในปี 2556 ว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ SMEs จะได้รับคือ ต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นประมาณ 80-90% จากต้นทุนแรงงาน ราคาน้ำมัน และค่า FT ที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งหากผู้ประกอบการมีสายป่านทางการเงินที่สั้น จะไม่สามารถแบกรับกับต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นได้ ขณะที่การส่งออกของประเทศในหลายภาคส่วนก็ไม่มีการขยายตัว ผลที่ตามมาคือ ภาพของการปลดคนงาน และบางแห่งอาจถึงขึ้นต้องปิดกิจการ และในปี 2556 ประเทศไทยจะเห็นภาพของการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้ประกอบการ และรัฐบาลเพิ่มมากกว่าที่เห็นในปี 2555

“แม้แต่ในวงการปศุสัตว์ก็ลำบาก เห็นได้จากเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราเสียค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟ ค่าแรงงาน และน้ำมันที่สูงขึ้น ขณะที่ราคาธัญพืชที่ใช้เลี้ยงสัตว์ก็แพง ซึ่งต้นทุนการผลิตของฉวีวรรณกรุ๊ป ในเดือนเมษายน 2555 พุ่งสูงถึง 50 ล้านบาท และขยับเป็น 60-70 ล้านบาทในเดือนต่อๆ มา ผลกระทบนี้แบงก์ของรัฐก็ไม่ให้การช่วยเหลือในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ในทางกลับกัน กลับเข้มงวดกับผู้ประกอบการจนแทบจะอยู่ไม่ได้ เหตุการณ์ในลักษณะนี้หากรัฐบาลยังไม่ตื่นจากฝัน และไม่เร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และคุยกับแบงก์รัฐเรื่องการปล่อยสินเชื่อ เศรษฐกิจของไทยมีปัญหาแน่ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่จะมีการปิดตัวมากในปีหน้า”

นางฉวีวรรณ ยังกล่าวอีกว่า ในหลายประเทศทั่วโลกหากเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจะเร่งหาแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยจะไม่ใช้โครงการประชานิยมโดยไม่จำเป็น ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ เคยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งหาทางแก้ไขและดำเนินการผ่านสื่อมวลชนหลายแขนง แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้รับการใส่ใจจากรัฐบาล และแบงก์ของรัฐก็ยังคงเข้มงวดเรื่องมาตรการสินเชื่อกับผู้ประกอบการ

“สิ่งที่เราอยากเห็นจากรัฐบาลในขณะนี้ก็คือ การดำเนินงานอย่างจริงจังของกระทรวงการคลังในฐานะผู้กำกับดูแลแบงก์ของรัฐ และวิสาหกิจต่างๆ ที่จะต้องหามาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างจริงจัง เพื่อให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจผ่อนคลาย เพราะปัจจุบัน ปัญหาที่ผู้ประกอบการแบกรับคือ วงเงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่เท่าเดิม แต่ต้นทุนการผลิตกลับเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีกำหนดจนไม่สามารถไปถึงจุดคุ้มทุนได้ และยังหากเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการ SMEs จะค่อยๆ ทยอยปิดตัวเพราะสู้ค่าแรงไม่ไหวอย่างแน่นอน” นางฉวีวรรณกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น