ตาก - “ผาแดง” เปิดเหมืองโชว์ยันก่อนปล่อยน้ำลงแม่น้ำแม่ตาว ดักกรองจนสะอาดแล้ว มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ไม่เกี่ยวปล่อยแคดเมียมปนเปื้อน ย้ำก่อนเปิดเหมืองมีบริษัทอื่นทำมาก่อน แถมทำผิดหลักจนถูกสั่งปิด ประกาศทุ่มงบร่วมร้อยล้านฟื้นฟู หลังปิดเหมืองปี 66
วันนี้ (28 มิ.ย.) รายงานข่าวจาก อ.แม่สอด จ.ตาก แจ้งว่า หลังชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สาว จ.ตาก รวมตัวเข้ารับฟังการสืบพยานของศาลจังหวัดแม่สอด ในคดีที่รวมตัวกันฟ้องร้องบริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากปัญหาการปนเปื้อนของแคดเมียมในการทำเหมืองแร่สังกะสีนั้น
ล่าสุด นายเทียนชัย สิงหการ ผู้อำนวยการเหมืองผาแดงแม่สอดได้แถลงข่าว พร้อมนำสื่อมวลชนลงดูพื้นที่การทำเหมืองแร่ และระบบการฟื้นฟูเหมืองให้เป็นเหมืองสีเขียว และยืนยันว่ามีกระบวนการบริหารจัดการตามหลักมาตรฐาน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้
นายเทียนชัย กล่าวว่า จากการที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งใน อ.แม่สอด อ้างว่าได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารแคดเมียมที่เป็นผลการดำเนินการของบริษัท และบริษัทตากไมนิ่ง จำกัด และร่วมกับสภาทนายความ ยื่นฟ้องบริษัทตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งทางผาแดงได้นำเสนอหลักฐานหักล้างข้อกล่าวหาที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และสถาบันทางวิชาการที่ทำการศึกษา และประมวลผลการสำรวจตามหลักวิชาการตามสภาพพื้นที่
ซึ่งเรามีหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริงระบุได้ว่า ก่อนหน้าที่ผาแดงจะเข้ามาดำเนินการทำเหมืองแร่สังกะสี ในปี 2525 ได้มีบริษัทหนึ่งมาดำเนินการก่อนหน้านี้แล้ว โดยทำการเปิดขุดหน้าดิน นำแร่ไปใช้งานประมาณ 230,000 ตัน แต่ต้องหยุดดำเนินการเพราะไม่มีระบบการบริหารจัดการน้ำ ตามที่กระทรวงกำหนด ผิดเงื่อนไขในการดำเนินกิจการตามหลักของการทำเหมืองแร่ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งให้หยุดดำเนินการระหว่างปี 2515-2518 โดยช่วงนั้น มีสารแคดเมียมไหลปนเปื้อนไปในพื้นที่แล้ว
หลังจากนั้นอีก 9 ปี ผาแดงก็ได้ประทานบัตร และได้วางมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎระเบียบ ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด อีกทั้งยังมีการส่งเสริมอาชีพทดแทน และดูแลสุขภาพประชาชน สนับสนุนงบประมาณให้เกษตรกรที่ต้องการปลูกอ้อย เพื่อผลิตเอทานอล และยังสนับสนุนงบประมาณโรงพยาบาลแม่สอด ในการตรวจติดตามให้การรักษาผู้ที่มีระดับแคดเมียมในร่างกายสูงกว่าปกติ เป็นการรับผิดชอบที่บริษัทมีต่อสังคม และประชาชน
“เรามั่นใจในระบบการจัดการน้ำที่จะลงลุ่มน้ำแม่ตาว มีการเก็บกัก และกรอง ทั้งระบบรีไซเคิล กักเก็บตะกอน มีบ่อกลั่นกรองถึง 5 บ่อดัก โดยแบ่งพื้นที่การจัดการน้ำ 5 โซน จึงมั่นใจในคุณภาพน้ำก่อนที่จะปล่อยไหลลงลุ่มน้ำแม่ตาวใสสะอาด”
นายเทียนชัย กล่าวว่า บริษัทได้จัดสรงบประมาณ 97 ล้านบาท ในการฟื้นฟูเหมืองผาแดง ให้เป็นเหมืองสีเขียว (Green Mining Continuous Award) และยังจัดไว้อีก 25 ล้านบาท ในการฟื้นฟูหลังปิดเหมืองในปี 2566 ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่ต่อเนื่อง โดยขณะนี้บริษัทได้ดำเนินการธุรกิจแร่สังกะสีไปแล้วกว่า 8 ล้านตัน เหลืออีกเพียงไม่เกิน 1 ล้านตัน ก็จะปิดเหมือง
“สำหรับคดีที่อยู่ในศาลนั้น คาดว่าจะใช้เวลาสืบพยานอีกหลายเดือน ซึ่งเรามีพยานหลักฐานทางหลักวิทยาศาสตร์ และวิชาการที่จะใช้เป็นเครื่องพิสูจน์อยู่แล้ว”