xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ย้ำยื่น ป.ป.ช.ฟันโครงการน้ำมิชอบ เตือนรัฐอย่ารีบกู้-โมเมประชาพิจารณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (ภาพจากแฟ้ม)
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ชี้คำพิพากษาศาลปกครองกลางระบุชัดโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านมิชอบด้วยกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน ยันรัฐอ้างไปกู้เงินไม่ได้ แต่ถ้าดื้อจ่อร้องขอคุ้มครองชั่วคราว เตือนอย่าจัดนิทรรศการโมเมประชาพิจารณ์ เผยยื่นฟ้อง ป.ป.ช.มีสิทธิ์ต่อยอดคำพิพากษาฟันอาญานักการเมือง หวังรับพิจารณา ปัดเป็นหมัดน็อกหลังเตะตัดขา

เมื่อวานนี้ (27 มิ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ให้สัมภาษณ์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ถึงกรณีที่คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่ให้รัฐบาลนำแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ จำนวน 9 โครงการ 10 แผนงาน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ตามสิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน และสิทธิชุมชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะดำเนินการจ้างเอกชนออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน

โดยกล่าวว่า คำพิพากษาที่ออกมามีนัยยะสำคัญที่ศาลปกครองกลางน่าจะวินิจฉัยละเอียดและครบถ้วนแล้ว ว่าการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทร่วมค้าเข้ามาประมูลทั้ง 10 โมดูล เป็นการดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง อย่างชัดแจ้ง ศาลจึงมีคำพิพากษาให้หน่วยงานของรัฐทั้ง 4 หน่วยงาน และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดไปดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ดังนั้นแล้ว รัฐบาลหรือผู้ถูกฟ้องคดีจะปฏิเสธในการปฏิบัติการดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 มาตรา คงไม่ได้

เมื่อถามว่า คำสั่งที่ศาลที่ออกมาเปรียบเสมือนว่ารัฐบาลยังสามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ เพราะแค่ให้ไปทำประชาพิจารณ์ หรือจัดทำรายงาน นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในคำพิพากษาเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลต้องนำแผนบริหารจัดการน้ำไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้ครบถ้วน ตามมาตรา 57 วรรคสอง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลหรือผู้ถูกฟ้องคดีต้องไปดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนรมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง คือต้องไปทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานผลกระทบสุขภาพ และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดเวทีประชาพิจารณ์ และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบ ก่อนที่จะไปออกแบบดีไซน์ หรือก่อสร้าง รวมทั้งไปเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่อบริษัทที่ประมูลงานได้ ฉะนั้นขั้นตอนและวิธีการต้องใช้ระยะเวลามากพอสมควร อย่างน้อยก็ 1-2 ปี

“ฉะนั้นรัฐบาลจะมาอ้างว่าสามารถที่จะนำไปกู้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ที่จะหมดอายุในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ คงไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ แต่หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อไป สมาคมฯ ก็คงต้องไปยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลได้มีคำสั่งหรือมาตรการใดๆ เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้รัฐบาลไปดำเนินการ เพราะฉะนั้นแล้วอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมา เนื่องจากการกู้เงินมาแล้วจะนำไปสู่การเสียดอกเบี้ย หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดภาระในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และเป็นหนี้เกิดขึ้น ประชาชนคนทั้งประเทศจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน” นายศรีสุวรรณ กล่าว

เมื่อถามว่า ฝั่งรัฐบาลมีแนวคิดที่จะจัดนิทรรศการชี้แจงเกี่ยวกับโครงการนี้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหาสถานที่ โดยอ้างว่าจะเป็นไปในลักษณะคล้ายกับการทำประชาพิจารณ์ เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนคิดว่าในรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง กำหนดขั้นตอน วิธีการที่รัฐบาลหรือเจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการครบถ้วน ในขณะเดียวกันก็มีประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของขั้นตอน วิธีการ ในการที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง นั่นก็คือต้องไปจัดเวที ค.1 ค.2 ค.3 ให้เกิดขึ้นกับภาคประชาชน ฉะนั้นการไปจัดนิทรรศการจึงไม่เกี่ยวกับเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน

เมื่อถามว่า การยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันนี้ (28 มิ.ย.) จะยื่นในประเด็นไหนเป็นหลัก นายศรีสุวรรณ อธิบายว่า เมื่อศาลได้วินิจฉัยในคำพิพากษาออกมาชัดเจนว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย มาตรา 57 และมาตรา 67 ก็ชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะข้าราชการการเมือง ในฐานะผู้บริหารของหน่วยงานรัฐ ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.เรื่องเหล่านี้ผู้ที่เสียหายก็คือสมาคมฯ ในฐานะเป็นคู่กรณี ก็มีสิทธิ์ที่จะนำประเด็นเหล่านี้ไปยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ไต่สวนและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปตามที่กฎหมาย ป.ป.ช. กำหนด

เมื่อถามว่า คาดหวังมากแค่ไหนกับการยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ในครั้งนี้ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า หวังกว่า ป.ป.ช.จะพิจารณารับเรื่องและไต่สวนให้เป็นไปตามข้อมูลข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษา และมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่งใดๆ โดยเฉพาะการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า คำพิพากษาศาลปกครองที่ออกมาเสมือนเตะตัดขาโครงการของรัฐบาล ส่วนการยื่นฟ้อง ป.ป.ช.ถือว่าเป็นหมัดน็อก นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กระทำการคนละอำนาจหน้าที่ หน้าที่ใครหน้าที่มัน หน่วยงานทั้งสองหน่วยงานมีบทบาทในเชิงการให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามที่กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว ฉะนั้นก็คงต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น