ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำ มข.ออกนอกระบบ เคลื่อนไหวค้านมติ ครม. 4 มิ.ย.เห็นชอบ ส่งหนังสือถึงสำนักนายกฯ ให้เพิกถอนการส่งร่าง พ.ร.บ.มข.พ.ศ. ... เข้าสภา ลั่นภายใน 7 วันไม่ดำเนินการพร้อมเคลื่อนไหวต่อ ยันผู้บริหาร มข.ไม่เคยทำประชาพิจารณ์ประชากรภายในมหาวิทยาลัย หลังถูกถอนร่าง พ.ร.บ.มาแล้วครั้งหนึ่ง
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่หน้าที่ทำการไปรษณีย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กลุ่มนักศึกษาในนามเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ รวมตัวแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการนำ มข.ออกนอกระบบ หลังจากเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ มข.ออกนอกระบบ โดยปรับเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล
ทั้งนี้ ภายหลังแถลงข่าวตัวแทนเครือข่ายได้ส่งหนังสือคัดค้านไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอให้เพิกถอนการส่งร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ... และอีกฉบับไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อคัดค้านมติ ครม.ที่เห็นชอบให้ มข.ออกนอกระบบ
นายศักรินทร์ อ้องาม ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบ กล่าวว่า เครือข่ายติดตามการนำ มข.ออกนอกระบบมาโดยตลอด หลังจากที่ มข.ขอถอนร่าง พ.ร.บ.ออกนอกระบบมาแล้วครั้งหนึ่ง เนื่องจากประชาคมใน มข.คัดค้านไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นทางมหาวิทยาลัยก็ไม่เคยทำประชาคม หรือเปิดรับฟังความเห็นของประชากรภายในสถาบัน หรือบอกกล่าวเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแต่อย่างใด และจู่ๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ครม.ก็เห็นชอบให้ มข.ออกนอกระบบแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตกใจมาก โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบ
นายศักรินทร์กล่าวว่า เครือข่ายเห็นว่าการที่ มข.จะปรับเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ควรจะต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง มีการทำประชาคมให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมตามหลักการประชาธิปไตย
ดังนั้น ทางเครือข่ายจึงต้องการให้มีการทบทวน เนื่องจากมีนักศึกษาจำนวนมากคัดค้านมาโดยตลอด และขอเหตุผลที่ต้องการจะนำ มข.ออกนอกระบบ ขณะเดียวกันต้องการให้เพิกถอนการส่งร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ... เพราะทางมหาวิทยาลัยยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็น โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นทางเครือข่ายจะเคลื่อนไหวคัดค้านต่อ
นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 4 มข. กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่นอนต่อนักศึกษา ผู้ปกครอง คือ หากนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐนั้น ค่าเทอมต่อภาคการศึกษาจะเพิ่มสูงขึ้นหลายร้อยเท่าตัว คนที่เรียนดีแต่ฐานะยากจนก็จะไม่มีโอกาสเรียน
โดยตัวอย่างค่าเทอมที่สูงมากหลังออกนอกระบบแล้วคือ กรณีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นักศึกษาต้องจ่ายถึง 75,000 บาท และกรณีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งอยู่ในกำกับของรัฐเช่นกัน ต้องจ่ายมากถึง 18,000 บาทต่อเทอม ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นอีกมากมาย
ด้าน รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนรอเข้าสภาและรอให้ข้อมูลกับรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรา โดยยังคงใช้พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยฯฉบับเดิมที่เคยผ่านเข้าสภาเมื่อปี 2549 แต่มีการแก้ไขบางข้อที่ให้เหมาะสม ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าแรงต่อต้านของบุคลลากร นักศึกษามีน้อยลง โดยเฉพาะในส่วนของบุคลากรจากอดีตที่มีเสียงคัดค้านค่อนข้างมาก แต่ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ได้มีการเรียนรู้การทำงาน 2 ระบบทั้งราชการและพนักงานในกำกับ มีการประเมินความก้าวหน้าเป็นทีพึงพอใจ
ที่สำคัญในช่วง1-2ปีที่มีการปรับเปลี่ยน เชื่อว่าจะไม่มีการขึ้นค่าหน่วยกิต และถ้าระบบการบริหารงานมีประสิทธิภาพ ค่าหน่วยกิตจะไม่เป็นส่วนที่สร้างรายได้ เพราะที่ผ่านมา รายได้จากค่าหน่วยกิตแค่ 12 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งทั้งระบบรายได้ของมหาวิทยาลัยประมาณ 10,000 ล้านบาทเศษ แต่รายได้จากค่าหน่วยกิตมีแค่ 1,000 ล้านบาท รายได้มาจากส่วนอื่นมากกว่า ทั้งค่ารักษาพยาบาล ศูนย์วิจัย การบริการวิชาการ ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับว่าเป็นฮับทางวิชาการ การวิจัยและแพทย์ของภูมิภาคนี้