xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอีสานพอใจราคาข้าว-ยางพารา แต่ผิดหวังรัฐบาลเมินแก้ปัญหาค่าครองชีพ เชื่อค่าแรง 300 มีส่วนทำของแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากผลสำรวจของอีสานโพลพบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่พอใจกับนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - อีสานโพลเผยผลสำรวจความเห็นชาวอีสานต่อการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้า พบพึงพอใจการแก้ปัญหาราคาข้าว-ยางพารา แต่ไม่พอใจการแก้ปัญหาราคาพลังงาน ผิดหวังนโยบายลดค่าครองชีพ เชื่อว่าค่าแรง 300 บาทมีส่วนทำให้ของแพง


วันนี้ (5 มิ.ย.) ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้า ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 รายในเขตภาคอีสาน 20 จังหวัด พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.6 รู้สึกพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาราคาข้าวของรัฐบาล ส่วนใหญ่ให้เหตุว่า เพราะชาวนาขายข้าวได้ราคาดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น มีที่รองรับการขายข้าว สามารถจำหน่ายได้โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ส่วนร้อยละ 38.4 รู้สึกไม่พอใจ เพราะเชื่อว่ามีการทุจริตในกระบวนการ ชาวนาไม่มาไถ่ข้าวคืน เป็นการทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น และบางส่วนเห็นว่าราคารับซื้อข้าวจริงยังต่ำอยู่ ต้องการให้เพิ่มสูงขึ้นกว่านี้

ส่วนความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ร้อยละ 59.2 รู้สึกพอใจ เพราะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ส่วนร้อยละ 40.8 ไม่พึงพอใจ เพราะรู้สึกว่าราคายังอยู่ในระดับต่ำ ต้องการให้ราคาดีกว่านี้ และบางส่วนเห็นว่าการแทรกแซงราคายางให้สูงขึ้น จะทำให้เกิดปัญหายางล้นตลาดในอนาคต

สำหรับความพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซ และ ไฟฟ้า ร้อยละ 54.5 ไม่พอใจ เพราะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพอย่างมาก รัฐไม่ได้แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา บางส่วนเชื่อว่าราคาในปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่ร้อยละ 46.5 รู้สึกพอใจเพราะรัฐบาลได้พยายามตรึงราคาไว้ระดับหนึ่งแล้ว และแก้ปัญหาอย่างเต็มที่แล้ว

ขณะที่ความเห็นต่อราคาไข่ไก่ที่สูงขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เห็นว่ามีสาเหตุมากจากการจัดการของรัฐบาล และราคาอาหารสัตว์ ร้อยละ 40.4 และ 39.5 ตามลำดับ อีกร้อยละ 19.0 เห็นว่ามีสาเหตุจากภูมิอากาศ/ฤดูกาล และร้อยละ 1.1 เห็นว่ามาจากสาเหตุอื่นๆ

สำหรับความเห็นของชาวอีสาน ต่อกรณีที่รัฐบาลเคยให้คำมั่นเมื่อหาเสียงว่า จะกระชากค่าครองชีพลงมา แต่ค่าครองชีพกลับสูงขึ้น พบว่าร้อยละ 67.8 รู้สึกค่อนข้างผิดหวัง ร้อยละ 27.8 รู้สึกผิดหวังอย่างมาก มีเพียงร้อยละ 4.5 ที่รู้สึกพอใจ หรือไม่รู้สึกผิดหวัง ซึ่งผู้ที่ไม่ผิดหวังให้เหตุผลว่า เพราะเป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจโดยรวม และบางส่วนไม่ได้คาดหวังจากนโยบาย จึงมองว่าการไม่สามารถทำตามคำมั่นได้เป็นเรื่องธรรมดา

ส่วนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท กับผลกระทบต้นทุนสินค้า จนผู้ประกอบการต้องปรับราคาสูงขึ้นหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.3 เห็นว่าค่อนข้างมีส่วน และร้อยละ 31.2 เห็นว่ามีส่วนอย่างมาก มีเพียงร้อยละ 5.5 ที่เห็นว่าไม่มีส่วนเลย และอีกร้อยละ 5.0 ไม่ทราบ/ไม่มีความเห็น

ดร.สุทินกล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานเกินกว่าครึ่ง พอใจกับการแก้ปัญหาราคาข้าวและยางพาราซึ่ งเป็นพืชเศรษฐกิจ ส่วนกรณีราคาไข่ไก่สูงขึ้นช่วงนี้ ชาวอีสานส่วนใหญ่เห็นว่าเกิดจากการจัดการของรัฐบาล และต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นว่าเกิดจากสภาพอากาศ ตามที่รัฐบาลออกมาชี้แจงก่อนหน้านี้ ขณะที่การจัดการราคาพลังงานยังถือว่าสอบไม่ผ่าน เพราะเป็นส่วนที่กระทบต่อค่าครองชีพประชาชนทุกระดับ โดยส่วนใหญ่รู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามคำมั่น ที่ว่าจะกระชากค่าครองชีพลงมาได้ ซึ่งแม้นโยบายค่าแรง 300 บาทจ ะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่คนอีสานก็เห็นว่ามีส่วนทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตามเช่นกัน ดังนั้นรัฐควรให้ความสำคัญกับการบรรเทาปัญหาค่าครองชีพอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน ตามที่เคยให้สัญญาไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น