ราชบุรี - ม.ศิลปากร จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างสรรค์งานเครื่องเคลือบดินเผาด้วยเตามังกรที่ราชบุรี เผยที่ผ่านมา โอ่งมังกรได้รับการยอมรับ ปัจจุบันมีการส่งจำหน่ายไปทั่วโลกทางยุโรป และอเมริกา ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสานถ้า เหตุโอ่งมังกรสามารถใส่น้ำกินได้ดีที่สุด ไม่แตกหัก ไม่มีมลพิษ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (22 ก.พ.) ที่โรงโอ่งรุ่งศิลป์ เลขที่ 412/3 ซอยต้นโพธิ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี นายณรงค์ ครองชนม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานเปิดโครงการย้อนรอยวิถีชีวิตเครื่องเคลือบดินเผาไทยสู่การสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน โดยมี ผศ.ศุภกา ปาลเปรม รองคณบดีคณะมัณฑศิลป์ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ได้จัดโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นการสร้างสรรค์เครื่องเคลือบดินเผาด้วยเตามังกร จังหวัดราชบุรี Dragon Wood Firing 2012
โดยมีสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้าร่วมหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏวลัยอลงกรณ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเพาะช่าง คณะศิลปะวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และวิทยาลัยช่างศิลป์ คณะอาจารย์ และนักศึกษาเข้าร่วมงานกว่า 100 คน
โครงการสร้างสรรค์งานเครื่องเคลือบดินเผาด้วยเตามังกร จังหวัดราชบุรี จัดขึ้นเพื่อตระหนักในการนำความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทยมาฟื้นฟูต่อยอด เพื่อใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน และยังคงความเรียบง่ายเฉก เช่นวิถีการทำแบบดั้งเดิม ซึ่งได้แก่ การสร้างเตาเผาแบบง่ายๆ การนำเศษวัสดุต่างๆ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผา และการใช้ขี้เถ้าในการทำเคลือบ เป็นต้น โดยจัดกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ดั้งเดิมของพรรพบุรุษ และเชื่อมโยงผสมผสานความรู้ต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องเคลือบดินเผาของนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ศิลปิน และผู้สนใจทั่วไปให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น
การจัดสัมมนาครั้งนี้ จึงเป็นการให้ความรู้พื้นฐาน และเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการเผาเตามังกร เพื่อใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานที่อยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่าย และให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถนำความรู้ที่ได้ไปทดลองต่อยอด เพื่อนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานตามแบบฉบับของตน ที่จะนำไปสู่การพัฒนา และการสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน โดยได้แบ่งการจัดสัมมนาออกเป็น 2 ช่วง คือ เผาเตามังกร ระหว่างวันที่ 21-26 กุมภาพันธ์ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้น 118 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม เป็นนักศึกษาสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมจำนวน 83 คน คณาจารย์ และศิลปิน รวมจำนวน 35 คน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ที่นี่เป็นต้นตอของการทำงานพื้นถิ่นของโอ่งมังกรราชบุรี มีส่วนผสมพิเศษอย่างขี้เถ้าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของที่นี่ โดยเด็กหนุ่มสาวเหล่านี้เป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่จะพยายามหาประสบการณ์ ซึ่งการเรียนการสอนในหาวิทยาลัยจะเป็นแค่ทฤษฎี เป็นวิชาการ แต่ข้างนอกยังมีการปฏิบัติงานอะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของนักศึกษาที่ต้องเจอหลังจบการศึกษาไปแล้ว เป็นเรื่องที่ดีที่ทางโรงงานรุ่งศิลป์ของคุณทัศนัย ศิลป์ประเสริฐ ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มาทำเวิร์กชอปที่นี่ ซึ่งไม่ใช่มหาวิทยาลัยศิลปากรที่เป็นเจ้าภาพแห่งเดียว แต่ยังมีอีกหลายสถาบันที่มาร่วมงาน สิ่งเหล่านี้จะทำให้งานเก่าๆ ได้มีการประยุกต์ และพัฒนาสร้างสรรค์เป็นลักษณะแนวใหม่นอกเหนือสิ่งเก่าๆ ที่ได้เคยทำไว้อยู่ตลอดเวลา เป็นการสืบสานสิ่งที่บรรพบุรุษของไทยได้ทำไว้ในอดีต
นายทัศนัย ศิลป์ประเสริฐ เจ้าของโรงโอ่งรุ่งศิลป์ กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของเตาเผามังกรว่า เป็นเตาพื้นฐานที่มาจากเมืองจีน เมื่อ 75 ปีก่อน ชาวจีนจากโพ้นทะเลได้มาจากเมืองจีน คือ โรงงานเถ้าฮงไถ่ และของเถ้าแซไถ่ ที่เป็นเพื่อนกัน และมาเมืองไทยอยู่ที่กรุงเทพฯ จากนั้นได้นำดินจากราชบุรีกลับไปปั้นที่กรุงเทพฯ ปรากฏว่า นำไปปั้นแล้วดินที่ราชบุรีมีคุณภาพดี ทั้งการขึ้นรูปไม่แตกเสียหายมาก หลังจากทดสอบแล้วก็กลับมาที่ราชบุรีอีกครั้งหนึ่ง และได้เริ่มต้นการทำถ้วยชามเล็กๆ เช่น ไห เกิดขึ้น จากนั้นมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาถึงการทำโอ่งใหญ่มังกรกลายเป็นสินค้าประดับภายในบ้าน และนอกบ้านนับแต่นั้น
“ปัจจุบัน มีการส่งจำหน่ายไปทั่วโลกทางยุโรป และอเมริกา และทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน ถ้าไปถามชาวบ้านจะชอบโอ่งมังกรเพราะว่าเวลาฝนตก โอ่งมังกรจะสามารถใส่น้ำกินได้ดีที่สุด เพราะไม่แตกหัก ไม่มีมลพิษ ถ้าเป็นโอ่งปูนหากน้ำแห้งไปแล้วระยะหน้าแล้งพอใส่น้ำเข้าไปจะเกิดแรงดัน และระเบิด และยังมีเรื่องหินปูนเข้าไปปะปนอยู่พอคนทางภาคอีสานได้ชิมน้ำจากโอ่งแล้วจะรู้ว่าถ้าเป็นโอ่งมังกรน้ำจะมีรสหวาน”