xs
xsm
sm
md
lg

พบ 83.7% แรงงานไทย วิตกค่าแรง 300 ทำของแพง-เสี่ยงถูกเลิกจ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงใหม่ - แรงงานไทยร้อยละ 83.7 สะท้อนนโยบายค่าแรง 300 บาท/วัน ทำค่าครองชีพสูง หวั่นถูกเลิกจ้าง เหตุทําบริษัทต้นทุนสูง

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นแรงงานในพื้นที่จังหวัดอุตสาหกรรม ได้แก่ ลำพูน ชลบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม อยุธยา ปทุมธานี สมุทรสาคร เมื่อเร็วๆ นี้ ในหัวข้อ “เสียงสะท้อนแรงงานไทยกับค่าแรง 300 บาท” จำนวน 750 ราย

ปรากฏว่า ในแง่ของคุณภาพชีวิตแรงงานไทย หลังการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทแล้ว 49.2% เห็นว่า มีคุณภาพชีวิตเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง, 39.1% เห็นว่า ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น อีก 11.7% มองว่า ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงจากเดิม

เมื่อสอบถามถึงผลดีของนโยบายค่าแรง 300 บาท พบว่า 78.1% มองว่า ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น, 31.2% มองว่า ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นจากเดิม อีก 16.0% มองว่า ทำให้แรงงานที่มีฝีมือได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มแรงงานก็มองว่า นโยบายปรับค่าแรงดังกล่าวมีผลเสียเช่นกัน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นว่า ทำให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าต่างปรับราคาขึ้นตามไปด้วย 83.7%, ทำให้ถูกลดโอที และสวัสดิการ 57.5% ,เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง 50.2% ,ทำให้ต้องรับผิดชอบปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น 43.2%, ทำให้มีความเครียดกับการทำงานมากขึ้น 35.7%

เมื่อสอบถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อองค์กรนายจ้าง หลังรัฐบาลปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ผู้ตอบแบบสอบถาม 70.3% มองว่า ส่งผลกระทบแน่นอน เพราะบริษัทมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น และจะมีรายได้ลดลง เสี่ยงต่อการขาดทุน มีเพียง 29.7% เท่านั้น ที่เห็นว่าไม่มีผลต่อองค์กรนายจ้าง เพราะเห็นว่าบริษัทมีกำไรมากอยู่แล้ว รวมทั้งบริษัทนายจ้างลดเงินค่าล่วงเวลา และให้พนักงานทำงานมากขึ้น

และจากการสอบถามความพึงพอใจโดยรวมต่อนโยบายค่าแรง 300 บาท พบว่า มีคะแนนความพึงพอใจ 3.26 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน
กำลังโหลดความคิดเห็น