xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษา กอ.รมน. ลงพื้นที่ป่าเด็ง ดูความก้าวหน้าโครงการพระราชดำริ-ปัญหาช้างป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี - ที่ปรึกษา กอ.รมน.และคณะลงพื้นที่ป่าเด็ง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพื่อติดตามความก้าวหน้า และรับทราบปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงตามแนวพระราชดำริ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาช้างป่า

วันนี้ (30 พ.ค.) พล.อ.นิพนธ์ ภารัญนิตย์ ที่ปรึกษา กอ.รมน. และคณะ ประกอบด้วย พล.อ.นพดล วรรธโนทัย พล.อ.สนั่น มะเริงสิทธิ์ พล.ท.ธนยศ ศิริกุล พ.อ.ประสิทธิชัย ชินวงศ์ และ พ.อ.วิภาส วิเชียรสินธุ์ เดินทางมายังองค์การบริหารส่วนตำบลป่าเด็ง ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าและรับทราบปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงตามแนวพระราชดำริ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาช้างป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยมี พล.ต.ภานุวัฒน์ นาควงศ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 พ.อ.อดิศร โครพ ผู้บังครับการกรมทหารราบที่ 19 นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ตัวแทนชาวบ้าน ชมรมคนรักษ์ช้าง และส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมรับฟังการบรรยายสรุปของหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ

โดย ร.ท.วรภาส เบ็ญจชาติ หัวหน้าชุดประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องช้างป่าในพื้นที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน ได้บรรยายสรุปของหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ มีหน้าที่ปฏิบัติภารกิจตามพันธกิจ 3 ประการของกองทัพคือ 1.การเฝ้าระวังตรวจและการป้องกันชายแดน 2.การจัดการระเบียบพื้นที่ชายแดน และ 3.การพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ 2 จังหวัด 4 อำเภอ ประกอบด้วย จ.ราชบุรี คือ อ.สวนผึ้ง และ อ.บ้านคา

ส่วนที่ จ.เพชรบุรี คือ อ.หนองหญ้าปล้อง และ อ.แก่งกระจาน ซึ่งปัจจุบันได้รับมอบภารกิจให้เข้ามาดูแลพื้นที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ช้างตายในพื้นที่ โดยที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 3 ม.ค.55 ซึ่งพบกรณีช้างป่าเพศผู้ อายุประมาณ 10 ปี ถูกยิงตายด้วยปืน AK 47 คาร์บิน เพื่อตัดเอางา งวง อวัยวะของช้าง บริเวณป่าละเมาะ หมู่ 7 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ และเมื่อวันที่ 17 ก.พ.55 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ภ.7 ได้เข้ทำการจับกุมนายลูกแก้ว จันทร์อุปถัมภ์ และนายจันทร์ กัวพู้ ในคดีฆ่าช้างป่าเพื่อเอางา และอวัยวะเพศ ได้ของกลางอาวุธปืนอาก้า 1 กระบอก อาวุธปืนคาร์บิน 1 กระบอก อาวุธปืนลูกซอง 1 กระบอก มีด และขวาน

โดยผู้ต้องหาซัดทอดว่า นายสมพร จอกาย เป็นผู้สั่งการ อยู่ระหว่างหลบหนีการจับกุมและปัจจุบัน ผู้ต้องหาทั้ง 2 คนถูกฝากขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดเพชรบุรี และครั้งที่ 2 กรณีลูกช้างไม่ทราบเพศ อายุประมาณ 4 ปี ตายและถูกเผาบริเวณขอบอ่างเก็บน้ำกะหร่าง 3 หมู่ 3 บ้านป่าแดง โดยไม่สามารถระบุได้ว่าตายมาแล้วกี่วัน โดยมีบุคคลที่มีส่วนร่วมในการเผาช้างจำนวน 5 คน คือ นายสุริยนต์ โพธิ์บัณฑิต ผช.หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นายจินดา พวงมาลัย หน.ชุดด่านตรวจบ้านป่าแดง นายผล ถมยา หน.ชุดด่านตรวจบ้านห้วยโศก นายมานะ นกแก้ว ลูกจ้างชั่วคราวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนายสุรินทร์ ไม้แก้ว ลูกจ้างชั่วคราวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ปัจจุบันการดำเนินคดีอยู่ในชั้นศาล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาจะมีการลงพื้นที่ประชุมหารือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างกับคนในพื้นที่ ต.ป่าเด็ง ที่มีการตั้งมวลชนฝึกอบรมหลักสูตร คนไทยรักษ์แผ่นดินจังหวัดเพชรบุรี (ชมรมคนรักษ์ช้าง) จำนวน 3 รุ่น รวม 1,000 คน โดยรุ่นที่ 1 จำนวน 350 คน รุ่นที่ 2 จำนวน 300 คน และรุ่นที่ 3 จำนวน 350 คน โดยผู้ผ่านการอบรมจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัย และความสุขให้แก่ช้าง การป้องกันไม่ให้ช้างถูกทำร้ายที่มีการจัดกำลังพลเดินลาดตระเวนเดินเท้า และยานยนต์ร่วมกันระหว่าง ทหาร ตชด. และ อช.แก่งกระจาน รวมถึงมีการตั้งจุดตรวจร่วมระหว่างทหาร ตำรวจ กำลัง ปชช. และ ตชด. อีกทั้งมีการสร้างโป่งเทียม จำนวน 30 หลุม และดำเนินการปลูกพืชอาหารช้าง จำนวน 250 ไร่

และในปี 56 ก็ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2556 ที่มีการพบช้างถูกฆ่าตายบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำกะหร่าง 3 หมู่ 3 บ้านป่าแดง ที่จากการผ่าพิสูจน์พบว่าเป็นช้างเพศผู้ และในวันที่ 9 เม.ย.2556 พบช้างตายอีก 1 ตัว บริเวณข้างอ่างเก็บน้ำกะหร่าง 3 บ้านป่าแดง ซึ่งจากการผ่าพิสูจน์พบว่า เป็นช้างเพศเมียมีลูกใกล้คลอดอยู่ในท้อง

และจากเหตุการณ์ดังกล่าว หน่วยงานทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ลงไนที่ และประชมหารือเพื่อหาบุคคลที่กระทำผิดมาดำเนินคดีอย่างเร่งด่วน และหาแนวทางการแก้ไขป้องกันทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยการบูรณาการร่วมกันทั้งสำนักงานจังหวัด สำนักงานอำเภอ ทหาร ตำรวจ อุทยานฯ ตชด. สน.อบต.ป่าเด็ง สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) หน่วยงานท้องถิ่น ชมรมคนรักษ์ช้าง และภาคประชาชน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสำนักงานชุดประสานงานอนุรักษ์ช้างป่า บ้านป่าเด็ง ที่ปัจจุบันสำนักงานอยู่ชั้น 2 ของ อบต.ป่าเด็ง และจัดตั้งอาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยช้าง (ชรช.) จำนวน 50 คน โดยสำนักงานจังหวัดเป็นหน่วยหลักในการดูแล และประสานให้ ฉก.ทัพพระยาเสือเป็นผู้ประสานงานในการจัดตั้ง โดยแต่งตั้งให้ ร.ท.วรภาส เบ็ญจชาติ เป็นหัวหน้าชุดประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องช้างป่าในพื้นที่ ต.ป่าเด็ง

ซึ่งการปฏิบัติภารกิจ และการแก้ไขปัญหาในแผนงานต่อไปจะมีการบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกันทุกภาคส่วนในนามของ ชุดประสานงานอนุรักษ์ช้างป่า บ้านป่าเด็ง โดยมีสำนักงานจังหวัดเป็นหน่วยหลักในการดูแลที่จะเตรียมการปลูกพืชอาหารช้างในห้วงเดือน ก.ค.56 โดยแบ่งเป็นปลูกพืช จำนวน 200 ไร่ ทำโป่งเทียม 40 หลุม และฝายชะลอน้ำ 20 ฝาย ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำกะหร่าง 3 ช่วยเหลือประชาชนโดยการรับฟังปัญหาและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ติดตาม และรายงานสถานการณ์ ดูแลความปลอดภัย สำรวจรองรอยรวมถึงพฤติกรรมของช้างในพื้นที่ และทำการลาดตระเวนในพื้นที่เพื่อป้องกันและปราบปรามสกัดกั้นการลักลอบฆ่าสัตว์ป่า และตัดไม้เป็นประจำทุกเดือน ส่วนปัญหาและข้อขัดแย้งขณะนี้มีกรณีที่สื่อมวลชนบางสื่อเสนอข่าวบิดเบือนความจริง ใส่ร้าย และการบูรณาการยังไม่เป็นรูปธรรม

โดย พล.อ.นิพนธ์ ภารัญนิตย์ ที่ปรึกษา กอ.รมน.กล่าวว่า จากการฟังบรรยายสรุปจะเห็นได้ว่าช้างถูกภัยคุกคามจนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วหรือปีก่อน แต่เกิดขึ้นมา 30-40 ปีแล้ว ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ๆ ผ่านมา ซึ่งปัญหาตรงนี้จะทำอย่างไรในการที่จะร่วมกันกันดูแล อนุรักษ์และรักษาช้างป่าให้มีที่อยู่ มีอาหาร และมีความปลอดภัย ก็ได้ผนึกกำลังกันโดยใช้แนวทางของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน พลเรือน และทหาร ระดมความคิดหาแนวทางในการดูแลช้างป่า ว่าจะหาแนวทางป้องกันอย่างไร ส่วนการจัดอบรม และมีการตั้งชุด ชรช.และชุดคนรักษ์ช้าง ขึ้นมานั้นถือว่าเป็นการดี เพราะจะได้ช่วยกระจายคนลงในพื้นที่ช่วยในการเฝ้าระวังช้างป่าให้อยู่รอด และปลอดภัยด้วย

ด้าน พล.ต.ภานุวัฒน์ นาควงศ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางทหารได้รับงบประมาณจากพลพัฒนาในการขุดลอกคูคลองและหนองน้ำ ในพื้นที่ที่ช้างอยู่ และในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จำนวน 5 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งมีปัญหาติดอยู่ โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จึงยังไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ เพราะหากเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ป่าเด็งได้ก็จะทำให้เพิ่มแหล่งน้ำ และมีปริมาณน้ำที่ช่วยเหลือด้านการเกษตรของชาวบ้าน และเป็นแหล่งน้ำให้แก่ช้าง และสัตว์ป่าได้ดื่มกินในยามหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ หากงบประมาณไม่ถูกนำไปใช้ก็จะต้องคืนงบประมาณจะส่งผลให้เสียโอกาสต่อชุมชน และสัตว์ป่า จึงได้ขอให้ทางสำนักงานชุดประสานงานอนุรักษ์ช้างป่า บ้านป่าเด็ง ช่วยประสานกับทางอุทยานฯ ในการที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

พร้อมกันนี้ ฝากให้ทางจังหวัด และสำนักงานชุดประสานงานอนุรักษ์ช้างป่า บ้านป่าเด็ง ติดตามหาข้อมูลรายละเอียดโครงการสร้างอ่างเก็บนำที่บ้านป่าแดง ต.ป่าเด็ง เนื่องจากทราบว่า ในอดีตได้มีการสำรวจ และตั้งโครงการไว้เรียบร้อยแล้วแต่ก็เงียบหายไป ซึ่งหากสามารถนำเอาโครงการนั้นมาสร้างแหล่งน้ำขึ้นมาใหม่จะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมาก โดยเฉพาะจะทำให้มีแหล่งน้ำให้สัตว์ป่าได้กินในช่วงหน้าแล้ง และถ้าพบรายละเอียดของโครงการดังกล่าวจะได้นำไปเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น