จันทบุรี - รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงพื้นที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้นำท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับชุมชน ในท้องที่จังหวัดจันทบุรี พร้อมมอบเงินเยียวยาให้กับเหยื่อที่ถูกช้างป่าทำร้ายเสียชีวิต
วันนี้ (22 พ.ค.) เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยคณะได้ลงพื้นที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้นำท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับชุมชนในท้องที่จังหวัดจันทบุรี โดยมี นายอำเภอมะขาม หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุกแห่งในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และร่วมในการประชุม
การจัดประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากทางจังหวัดจันทบุรีได้ทำหนังสือผ่านไปถึงกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชว่า ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ได้ผลกระทบจากปัญหาช้างป่าทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บอีก 6 ราย ชาวบ้านในพื้นที่มีความหวาดผวา และหวาดกลัวกับช้างป่า ชื่อไอ้แดง หรือพลายแดง ที่ชาวบ้านเรียกกันเป็นอย่างมาก และทางชาวบ้านอยากที่จะให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยการนำช้างป่า หรือไอ้แดง ออกนอกพื้นที่จังหวัดจันทบุรีไป หากปล่อยเอาไว้ช้างป่าตัวนี้อาจทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เหมือนปกติสุข และไม่กล้าที่จะออกกรีดยาง หรือเก็บผลผลิตเพราะกลัวช้างป่าจะทำร้ายเอา และในวันนี้ ทางรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชจึงได้ลงพื้นที่มาประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้นำท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับชุมชนในท้องที่จังหวัดจันทบุรี
ซึ่งผลสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่า มี 3 มาตรการ คือ มาตรการเร่งด่วน การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือประชาชนที่ถูกช้างป่ารบกวน จ่ายค่าชดเชยที่ช้างป่าออกไปทำลายพืชผลทางการเกษตร จัดตั้งชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาช้างป่าแต่ละพื้นที่ป่าอุรักษ์ และจัดทำแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ และปลูกพืชอาหารช้างป่าในพื้นที่ปัญหา มาตรการระยะกลาง ใช้มาตราทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่แหล่งน้ำ แหล่งอาหารของช้างป่า และการจัดทำรั้วไฟฟ้า การทำคูกั้น และการจัดทำแนวกีดขว้างวางในจุดที่ช้างป่าลงมาบ่อยโดยให้เขตอุรักษ์รักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นผู้รับผิดชอบสำรวจ จัดทำแผนให้เสร็จภายใน 1 เดือนนี้ และมาตรการระยะยาว ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรกรรมรอบพื้นที่อนุรักษ์ที่มีสัตว์ป่าออกไปรบกวนพื้นที่ สร้างทัศนคติที่ดีเพื่อการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า ศึกษาและติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของช้างโครงสร้างประชากร การเคลื่อนย้ายตามฤดูกาลเพื่อวางแผนจัดการ การจัดทำแนวเชื่อมต่อป่าเพื่อการเคลื่อนย้ายของประชากรช้างในอนาคต รวมทั้งผนวกพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อการเคลื่อนย้าย และพิจารณาเคลื่อนย้ายช้างตัวผู้ ฝูงที่มีปัญหาไปยังพื้นที่ใหม่
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ตรงนี้ได้รับการประสานงานจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานในพื้นที่ก็ขอให้เข้ามาดูปัญหาช้างป่าที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี สำหรับพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด มีช้างป่าอยู่ในพื้นที่ประมาณ 400-500 ตัว ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากช้างป่ามีการหาอาหาร และก็ออกมารบกวนพี่น้อง ซึ่งพื้นที่ป่าที่ช้างป่าเคยอาศัยอยู่อาจจะลดน้อยลง และถูกประชาชนเข้ามาทำพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ติดกับช้างป่าที่เคยอาศัยอยู่ นอกจากนั้นแล้วแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารไม่พอเพียงกับฤดูกาลที่เปลี่ยนไปก็เลยออกมาใกล้กับประชาชน ดังนั้น ทางอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชก็เลยให้ในวันนี้มาติดตามการแก้ไขปัญหาและเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้พยายามลดความขัดแย้งเรื่องสัตว์ป่ากับคนต่อไปอีกด้วย