xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.สพป.ระยอง เขต 1 ประกาศไม่ยุบโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ที่อาจจะต้องถูกยุบไปรวมกับโรงเรียนขนาดใหญ่
ระยอง - ผอ.สพป.ระยอง เขต 1 ประกาศไม่ยุบโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ด้านประธานกรรมการศึกษาเขต ย้ำนโยบายให้ครูทำผลงานวิจัยยกระดับวิทยฐานะ คือตัวปัญหาแท้จริง

วันนี้ (14 พ.ค.) นายธงชัย มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ระยอง เขต 1 กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัด สพป.ระยอง เขต 1 มี 116 โรงเรียน มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน 24 โรงเรียน สพป.ได้เชิญผู้บริหารโรงเรียนมาพูดคุยแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีการตกลงกันว่าใน 16 โรงเรียน ที่มีนักเรียนจำนวนมาก และมีครูสอนครบทุกชั้น ให้ทำข้อตกลงยกระดับคุณภาพการศึกษาในเดือนมิถุนายนนี้ และอีก 5 โรงเรียนมีเด็กนักเรียนมากกว่า 60 คน แต่ต่ำกว่า100 คน ให้มีการสอนแบบคละชั้น อีก 2 โรงเรียนซึ่งเป็นโรงเรียนหลัก โดยเอาโรงเรียนเล็กมาเรียนร่วมกัน คือ โรงเรียนแม่น้ำคู้ อ.ปลวกแดง มาเรียนร่วมกันกับโรงเรียนบ้านหนองมะปริง ซึ่งอยู่ห่างกัน 3 กิโลเมตร สพป.ระยอง เขต 1 จะให้รถตู้มาใช้รับส่งนักเรียน 1 คัน

นายธงชัย กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน มี 8 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดธงหงส์ โรงเรียนบ้านตะพุนทอง โรงเรียนวัดธรรมสถิต โรงเรียนชากกอไผ่ โรงเรียนชากมะหาด โรงเรียนนิคมสร้างตนเอง (13) โรงเรียนบ้านเขาคลองซอง และโรงเรียนแม่น้ำคู้ จัดให้มีการสอนคละชั้น เช่น เอาโรงเรียนวัดธงหงส์ โรงเรียนวัดธรรมสถิต และโรงเรียนบ้านตะพุนทอง รวม 3 โรงเรียน ซึ่งให้ผู้บริหารโรงเรียนจัดแผนการเรียนการสอนจะสามารถบริหารจัดการเองได้ ดังนั้น โรงเรียนในสังกัด สพป.ระยองเขต 1 จะไม่มีการยุบโรงเรียนแต่อย่างใด

แต่ถ้าผู้ปกครองมีความประสงค์จะย้ายลูกหลานไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่งก็จะจ่ายค่าพาหนะให้ ส่วนชุมชน หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต้องการที่จะเข้าไปบริหารโรงเรียนเอง เพราะมีความพร้อมในเรื่องงบประมาณก็พร้อมที่จะถ่ายโอนให้

ด้านนายวิทิต ลาวัณย์เสถียร ประธานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยองเขต 1 ประธานมูลนิธิช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจน อ.แกลง กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกรณีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายให้ยุบหรือรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน เพราะถ้าไม่แก้ไขสภาพการศึกษาคงเลวร้ายยิ่งกว่านี้ โรงเรียนเล็กๆ ขาดความเข้มแข็งที่จะอยู่คู่กับชุมชน หากกระทรวงศึกษา มัวแต่มาหาทางออกเพียงเรื่องการควบรวม เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ส่วนนโยบายการบริหารจัดการเรื่องแรก ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ การให้ผลตอบแทนครู หรือบุคลากรทางการศึกษาผิดๆโ ดยใช้วิธีให้ครูทำผลงานวิจัยหลายระดับ เพื่อยกระดับวิทยฐานะของครู ตั้งแต่ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นนโยบายตัวหนึ่งที่สร้างปัญหาอย่างแท้จริง ในเมื่อกระทรวงกำหนดเป็นนโยบาย จะไปโทษครูเอาแต่เวลาไปทุ่มเทกับการทำผลงานวิจัย ทำให้ครูไม่มีเวลาจะสอนไม่ได้ เพราะเงินเดือนครูตั้งแต่เริ่มแรกค่อนข้างต่ำ หากครูไม่พยายามดิ้นรนค่าครองชีพเลี้ยงครอบครัวครูส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยพอใช้

“ครูทุกคนก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้ครอบครัวอยู่รอด เมื่อครูไม่มีเวลาจะสอนเด็ก ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาก็เริ่มตกต่ำ ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ปกครองต้องดิ้นรนย้ายบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนใหญ่ๆ โรงเรียนก็เริ่มอ่อนแอลง โรงเรียนขนาดกลาง กลายเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดเล็กก็แทบจะไม่มีนักเรียน ทำให้มีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน”

นายวิทิต กล่าวว่า การให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลก็มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เนื่องจากความเจริญของแต่ละชุมชนไม่เท่าเทียมกัน โรงเรียนไหนอยู่ในท้องถิ่นที่มีความเจริญ การที่จะระดมทรัพยากรต่างๆ ก็จะได้รับการตอบสนองที่ดีกว่า ในขณะที่โรงเรียนที่อยู่ในชุมชนเล็กๆ ห่างไกลความเจริญ การจะระดมทรัพยากรพัฒนาการศึกษาเป็นเรื่องที่ยากมาก ส่วนปัญหาที่หนักที่สุด คือ งบประมาณของกระทรวงศึกษา 80% เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรกับอุดหนุนสถานศึกษา ทำให้เหลืองบประมาณที่จะพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถน้อยมาก

หากยังแก้ไขไม่ได้ ในอนาคตกระทรวงศึกษาจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าบุคลากรครูที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายการศึกษาก็จะล่มทั้งระบบ ทุกวันนี้ผลการศึกษาระดับชาติมีแต่สาละวันเตี้ยลง เพราะทุกคนจะพูดกันแต่เรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ไม่เคยพูดถึงต้นตอที่แท้จริง หากไม่แก้ไข ต่อให้วิชาการดีขนาดไหน ถ้าการทุ่มเทไม่พอ ก็ยากที่จะสัมฤทธิผลทางการศึกษา จึงต้องเกาให้ถูกที่คัน ต้องหาทางให้ครูกลับมาทุ่มเทเพื่อการศึกษา การตอบแทนครูต้องทำให้ถูกวิธี ด้วยการวัดระดับคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียนนั้นเป็นหลัก ถ้าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาดีขึ้น จะต้องให้ผลตอบแทนแก่ครูโรงเรียนนั้น ถ้าครูสอนเด็กนักเรียนด้วยความตั้งใจ ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เมื่อถึงเวลานั้นครูทุกคนจะทุ่มเทเอาใจใส่พัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ

นายวิทิต กล่าวว่า ปัจจุบันมีครูส่วนหนึ่งที่รักเด็ก ทุ่มเทให้แก่การสอน โดยไม่สนใจเรื่องการทำวิทยฐานะ ครูเหล่านี้กลับไม่ได้อะไรเป็นผลตอบแทน นี่คือความล้มเหลวของระบบการศึกษาอย่างแท้จริง หากไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ในอนาคตโรงเรียนเล็กก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนใหญ่ต้องรับเด็กเกินขนาดก็จะเริ่มมีปัญหา เมื่อไม่สามารถจัดการปัญหาด้านการศึกษาให้มีคุณภาพได้ สุดท้ายไม่ว่าโรงเรียนใหญ่หรือโรงเรียนเล็ก ก็จะเกิดปัญหาทั้งสิ้น

“เป็นประธานกรรมการศึกษาระยองทั้งเขต 1 และเขต 2 มาหลายสมัยกว่า 10 ปี ไม่เคยรับเงินแม้แต่บาทเดียว มีแต่ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาปีละหลายล้านบาท จัดตั้งกองทุนมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนยากจน อ.แกลง ปัจจุบัน มูลนิธิดูแลนักเรียนยากจน 600 คน เพราะต้องการให้เด็กนักเรียนในระยองมีคุณภาพทางการศึกษาที่ดีขึ้น ผมเคยสะท้อนปัญหาให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ในคณะกรรมาธิการมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง”
นายวิทิต ลาวัณย์เสถียร ประธานคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยองเขต 1 ประธานมูลนิธิช่วยเหลือนักเรียนยากจน อ.แกลง จ.ระยองกล่าวถึงปัญหาครูทำผลงานวิจัยยกระดับวิทยฐานะคือตัวปัญหาแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น