xs
xsm
sm
md
lg

ยุบโรงเรียนซื้อรถตู้...เอาเลยครับ

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


ปี 2555 ประเทศไทยเรามีโรงเรียนอยู่ 31,116 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 14,816 แห่ง มีนักเรียนอยู่จำนวนทั้งสิ้น 7,397,961 คนในจำนวนนี้มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน และบางแห่งมีเพียง 20 คนซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการยังสำรวจแน่ชัดว่ามีอยู่กี่โรงแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนายพงศ์เทพ เทพกาญจนาได้ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้โรงเรียนเหล่านี้ได้ ซึ่งทำให้คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเหล่านี้ เมื่อเทียบกับมาตรฐานกลางของประเทศถือว่าต่ำ อีกทั้งปริมาณครูก็มีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียน หมายความว่าครูหนึ่งคนจะต้องสอนหลายชั้นเรียนพร้อมกันจึงเห็นสมควรควบรวมโรงเรียนโดยให้โรงเรียนขนาดเล็กต่างๆ ส่วนบางโรงเรียนที่ค่อนข้างทรุดโทรมก็สามารถยุบโดยเปลี่ยนให้เป็นการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น โดยจะมีการใช้ระบบรับส่งนักเรียนไปยังโรงเรียนโดยผู้ปกครองจะไม่เสียค่าใช้จ่าย และบอกว่าจะทำให้คุณภาพการศึกษาของเด็ดเยาวชนของชาติจะดีขึ้น

สิ้นคำแถลงให้สัมภาษณ์ของนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา กระแสคัดค้านก็กระหึ่มไปทั้งเมือง โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว ส่วนหนึ่งมองว่านั่นไม่ใช่ทิศทางของการพัฒนาระบบการศึกษาที่จะทำให้เยาวชนของชาติมีคุณภาพแต่จะทำให้คุณภาพทางการศึกษาแย่ลงกว่าเดิม ระบบการศึกษาที่ผ่านมาที่เน้นความเป็นเลิศได้สร้างระบบการแข่งขัน ทำลายความเป็นมนุษย์ของเยาวชน มุ่งตอบสนองระบบทุนนิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา หรือมากไปกว่านั้นคือการทำลายจิตวิญญาณของชุมชน พรากเยาวชนออกจากฐานการผลิตที่อิงอยู่กับฐานทรัพยากรดิน น้ำป่าให้ไปพึ่งพิง ยอมรับและสวามิภักษ์ต่อกลไกการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก

นอกจากนั้นโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ล้วนเกิดจากแรงศรัทธาของผู้คนในชุมชน บ้างก็เสียสละที่ดินเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงเรียนให้กับลูกหลาน บ้างก็เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้คน พระสงฆ์องค์เจ้าในการก่อสร้างโรงเรียนเหล่านั้นขึ้นมา การประกาศยุบโรงเรียนที่มีรากเหง้าสัมพันธ์กับชุมชนในมิติดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสต่อต้านซึ่งเมื่อผนวกกับความล้มเหลวของระบบการศึกษาที่ผ่านมาที่เด่นชัดมากขึ้น วิธีคิดหรือนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด

  ในขณะที่เหล่าข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการที่พยายามออกมาตอบสนองนโยบายของเจ้ากระทรวง ก็ทยอยกันออกมาพูดถึงปัญหาดังกล่าวเช่น “การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหา เนื่องจากรัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนให้ตามรายหัวนักเรียน เมื่อเด็กมีจำนวนน้อยโรงเรียนก็ได้รับเงินอุดหนุนน้อยตาม ส่งผลให้มีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการภายในโรงเรียน และยังส่งผลไปถึงจำนวนครูที่ไม่ครบชั้น ซึ่งกล่าวได้ว่าหากจะดูโรงเรียนที่สมบูรณ์ ต้องดูว่ามีครูครบชั้นหรือไม่” ดูเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกันยากที่สังคมจะปฏิเสธแนวนโยบายดังกล่าว แต่บรรดารัฐมนตรีหรือเหล่าข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการคงไม่ค่อยได้อ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นแน่ๆ รัฐธรรมนูญ ปี 2554 ได้รับรองสิทธิในเรื่องการศึกษาไว้ในมาตรา 49 ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐ จะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลําบาก ต้องได้รับสิทธิตาม วรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น

ซึ่งนอกจากสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการศึกษาภาคบังคับไม่น้อยกว่า 12 ปีในลักษณะที่ “โดยทั่วถึง” และ “มีคุณภาพ” แล้วรัฐธรรมนูญปี 2554 ยังบัญญัติให้รัฐมี “หน้าที่” ที่จะต้อง “ออกนโยบาย” ที่เป็นไปตาม มาตรา 80 (3) ที่กำหนดไว้ ว่า “(3) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสํานึกของความเป็นไทย มีระเบียบวินัยคํานึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

คำที่ระบุไว้ว่า “โดยทั่วถึง” และ “มีคุณภาพ” นั้นย่อมมีความหมายในตัวว่า สิ่งนั้นจะต้องกระจายไปโดยไม่มีข้อจำกัดด้วยเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใด อีกทั้งจะต้องไปสู่ทุกๆ คนที่จะต้องได้รับบริการนั้น ซึ่งย่อมหมายความไปถึงว่า รัฐจะต้องจัดการการศึกษาในลักษณะที่รัฐจะต้องจัดระบบการศึกษาให้แก่เยาวชนของชาติถึงในครัวหรือถึงในห้องนอนกันเลยทีเดียว ในการที่จะต้องจัดให้มีการศึกษาฟรีตั้งแต่ชั้นประถม 1 จนถึงมัธยม 6 เพราะรัฐธรรมนูญเขาบังคับเอาไว้ ถ้าไม่ทำหรือทำไม่ได้ ประชาชนอาจจะรวมตัวกันฟ้องศาลปกครองบังคับท่านให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้อย่าทำเป็นเล่นไป

การพัฒนาระบบการศึกษาอยู่ที่การกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงและการพัฒนาการศึกษาให้ มีคุณภาพ ซึ่งไม่น่าจะใช้วิธีการยุบโรงเรียนแน่นอน เพราะการยุบโรงเรียนอาจจะส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อน การที่ไม่มีนักเรียนมาเรียนที่โรงเรียน จะต้องตั้งคำถามว่าทำไมโรงเรียนเหล่านั้นมีนักเรียนมาเรียนน้อย ทำไมผู้ปกครองถึงไม่อยากให้ลูกหลานของพวกเขาไปเรียน นั่นมันเป็นปัญหาของระบบการบริหารการจัดการที่รัฐมนตรีจะต้องแก้ไขในเรื่องของคุณภาพ นักเรียนที่เหลืออยู่โรงเรียนละ 60 คน 20 คน อย่างที่ท่านว่ามา เขาก็คือเยาวชนของชาติ และอาจจะเป็นกลุ่มเยาวชนที่ด้อยโอกาส ไม่มีกำลังที่จะไล่ตามระบบการศึกษาที่มีเลนเดียวคือมุ่งความเป็นเลิศแก่งแย่งแข่งขันอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่เหล่ารัฐมนตรีทั้งหลายที่นิยมส่งลูกหลานของตัวเองไปเรียนต่างประเทศก็เพราะว่าไม่เชื่อมั่นระบบการศึกษาในประเทศที่เป็นอยู่นั่นแหละ การจะซื้อรถตู้ขนนักเรียนจากโรงเรียนที่จะถูกยุบ 17,000 คัน อ้าปากคนในสังคมก็เห็นลิ้นไก่ของพวกท่านแล้วครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น