xs
xsm
sm
md
lg

อุบลฯ ยก ต.บ้านแดงโมเดล แก้ปัญหาวัยรุ่นขาดความอบอุ่น-ยกพวกตีกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ที่โรงเรียนวัดแสงอุทัยวิทยา บ้านโนนบก ต.บ้านแดง อ.ตระการพืชผล สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จับมือเยาวชนและผู้ใหญ่ในตำบลบ้านแดงตั้งวงคุยหาทางแก้วัยรุ่นยกพวกตีกันตามงานบุญประเพณี โดยมีตัวแทนตำรวจกศน. ผู้นำชุมชน นักพัฒนาชุมชน ผู้ปกครอง และตัวแทนเด็กเยาวชนร่วมพูดคุยหาทางออกให้กับเด็กเยาวชน
อุบลราชธานี - ผู้ใหญ่ตำบลบ้านแดง อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ตั้งวงถกปัญหาเด็กเยาวชนแบ่งฝ่าย ยกพวกตีวัยรุ่นต่างบ้าน เหตุรัฐทอดทิ้งไร้งบประมาณสนับสนุน ส่วนพ่อแม่ละเลยหน้าที่ ขาดความเข้าใจเอาใจใส่ให้ความอบอุ่น ผุดไอเดียเจ๋งดึงวัยโจ๋ระหว่างตำบลผูกเสี่ยวลดปัญหาทะเลาะวิวาท

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่โรงเรียนวัดแสงอุทัยวิทยา บ้านโนนบก ต.บ้านแดง อ.ตระการพืชผล สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จับมือเยาวชนและผู้ใหญ่ในตำบลบ้านแดงตั้งวงคุยหาทางแก้วัยรุ่นยกพวกตีกันตามงานบุญประเพณี โดยมีตัวแทนตำรวจ กศน. ผู้นำชุมชน นักพัฒนาชุมชน ผู้ปกครอง และตัวแทนเด็กเยาวชนร่วมพูดคุยหาทางออกให้แก่เด็กเยาวชนเหล่านี้

พ.ต.อ.ตะวันกฤตฐ์ เทียมฟ้าพลกรัง ผกก.สภ.ตระการพืชผล กล่าวถึงสถานการณ์วัยรุ่นยกพวกทะเลาะวิวาทในพื้นที่ตำบลบ้านแดงอำเภอตระการพืชผล ว่ามีปัญหาทะเลาะวิวาทถึงขั้นยกพวกเข้าทำร้ายกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจเล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้จึงพยายามดูแลความสงบเรียบร้อยทุกครั้งที่มีงานแสดงหมอลำและงานรื่นเริงอื่นๆ แต่กำลังตำรวจมีจำนวนน้อยจึงปรับวิธีโดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกันมากขึ้น จนทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ขณะที่ น.ส.เพ็ญประภา สุวรรณพรม ตัวแทนเยาวชนในตำบล เล่าถึงประสบการณ์ทะเลาะวิวาทว่าแค่เดินผ่านแล้วมองหน้ากันก็มีความรู้สึกไม่ชอบหน้าและลงมือตบตีกัน ความรู้สึกแบบนี้อาจมาจากการเกาะกลุ่มกับเพื่อนเป็นกลุ่มหลายคนและเป็นช่วงของวัยรุ่นยังมีความคึกคะนอง

ด้าน น.ส.สีดา พิทักษา ผู้ปกครองของบุตรหลานที่เป็นวัยรุ่นมองปัญหาที่เกิดขึ้นว่า อดีตวัฒนธรรมและวิถีชุมชนยังเหนียวแน่น ไม่เกิดเหตุทำนองนี้เกิดขึ้น เมื่อแต่ละหมู่บ้านมีการจัดงานบุญประเพณีอีก 9 หมู่บ้านจะมาช่วยกันเตรียมงาน แต่เมื่อเด็กเข้าสู่การศึกษาในระบบมากขึ้นกลับพบว่าวัยรุ่นในระบบมีปัญหาตบตีกัน ทะเลาะวิวาทในงานรื่นเริง

ด้านนายกุญชร สุธรรมวิจิตร ผอ.กศน.ตระการพืชผล กล่าวว่า ปัญหาเยาวชนของสังคมไทยเจ็บป่วยซ้ำซ้อนมานานแล้ว เพราะถูกภาครัฐทอดทิ้งด้วยการตัดงบประมาณในการอบรมเยาวชนตั้งแต่ปี 2544 ก่อนหน้านี้มีการจัดอบรมทุกตำบลทุกปีเพื่อให้ความรู้สร้างกิจกรรมแก่เด็กเยาวชนที่มีปัญหา ปัจจุบันแต่ละปีมีเด็กออกจากโรงเรียนกลางคันมาสมัครเรียน กศน.จำนวนมาก

“ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกคนต่างปล่อยปละละเลยมานานแล้ว หวังให้ท้องถิ่นเทศบาล อบต.เข้ามาทำงานเรื่องนี้ แต่งานวิจัยชี้ชัดว่า อปท.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กเยาวชนน้อยมาก แม้กระทั่งระดับโครงสร้างตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมาก็ไม่ได้เห็นความสำคัญ ทุกวันนี้จึงมีแต่รายชื่อแต่ไม่มีคนลงมาทำงานจริง ถ้าทุกหน่วยงานพูดภาษาเดียวกัน เห็นการพัฒนาเด็กเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ ปัญหาก็ถูกแก้ไข สำหรับการแก้ไขปัญหาเด็กตีกันเสนอว่าต้องนำหัวหน้าแก๊งเด็กแต่ละตำบลมาสานสัมพันธ์ด้วยการผูกเสี่ยวเป็นเพื่อนกันจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง”

ขณะที่นายศิริรัตน์ แก้วประดิษฐ์ นักพัฒนาสังคมชำนาญการ ตัวแทน พมจ.อุบลฯ มองถึงแนวทางการแก้ปัญหาของด็กต้องเริ่มที่ครอบครัวเป็นสำคัญว่า คือการสร้างความอบอุ่นในครอบครัว เพราะช่วงการเป็นวัยรุ่นต้องมีกระบวนการการทำกิจกรรม แม้ขณะนี้มีกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2550 จัดตั้งสภาเด็กระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล แต่ปัญหาคือ ไม่มีเด็กทำงานจริง มีแต่รายชื่อทำให้ไม่มีเด็กเยาวชนเขียนโครงการมาของบประมาณทำกิจกรรมทั้งที่มีงบประมาณอยู่แล้ว

น.ส.กศนภา แฝงสีพล นักพัฒนาชุมชน ต.หนองเหล่า อ.เขื่องใน กล่าวถึงความสำเร็จการแก้ปัญหาวัยร่นติดเกม ทำตัวเป็นเด็กแว้น ว่านักพัฒนาชุมชนต้องเริ่มด้วยการนำตัวเองไปคลุกคลีกับเด็กและผู้ปกครอง เมื่อตั้งใจจริงจะได้รับความนับถือทุกวันนี้มีเด็กเยาวชนเดินเข้ามาใน อบต.เพื่อร่วมกิจกรรมที่จัดมากขึ้นทุกวัน โดยไม่สนใจต้องมีสภาเด็กหรือไม่แต่ต้องสร้างความเข้าใจกับเด็กและผู้ปกครองว่าเด็กมีความสำคัญต่อการพัฒนาบ้านเมือง และทำให้ผู้บริหาร อบต.เข้าใจความสำคัญด้วย เพราะอดีตสภา อบต.ไม่เคยอนุมัติงบประมาณด้านการพัฒนาเด็กเพราะมองความจำเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ แต่โชคดีที่ปลัด อบต.เข้าใจและร่วมผลักดันจนเข้าถึงตัวเด็กได้สำเร็จ

ขณะที่นายศิลารักษ์ เขียวสนาม กลุ่มเยาวชนเพาะรัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานกับเด็กเยาวชน ทำค่ายครอบครัว เล่าถึงพฤติกรรมของเด็กที่อยู่ในครอบครัวอบอุ่น ว่าพ่อแม่ให้ความรัก ความอบอุ่น พูดจากับลูกด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน รวมไปถึงการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมดีๆ ทำให้ชีวิตของเยาวชนมีแต่สิ่งดีๆ ตรงกันข้ามหากชีวิตในวัยเด็กเต็มไปด้วยความรุนแรง โตขึ้นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรุนแรง เป็นครูก็เป็นครูที่มีแต่ความรุนแรง หรือนักการเมืองก็เป็นนักการเมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรง

ด้านพระครูอุทัยธรรมกิจ พระนักกิจกรรม สะท้อนภาพสังคมครอบครัวว่า ปัจจุบันพ่อแม่ละเลยไม่เอาใจใส่บุตรหลานไม่เคยไถ่ถามลูกเมื่อกลับจากโรงเรียนว่าวันนี้เป็นอย่างไรมีการบ้านหรือไม่ การเรียนเป็นอย่างไร แตกต่างจากสมัยก่อนจะมีการพูดคุยไต่ถามหรือสอนบุตรหลานในวงกินข้าวเย็น ซึ่งทุกวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป รวมถึงการมอบหมายหน้าที่ให้ลูกเพื่อสอนให้มีความรับผิดชอบก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่ง ซึ่งปัจจุบันพ่อแม่ละเลยจุดนี้ไป

การจัดวงเสวนาปัญหาเด็กครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มที่สังคมต้องเพิ่มความตระหนักเห็นความสำคัญของความละเอียดอ่อนที่เคยมองข้าม โดยให้เด็กมีความสำคัญอยู่ในครอบครัวก็จะช่วยแก้ปัญหาเยาวชนที่กำลังลุมลามเป็นวงกว้างในสังคมไทย และการเสวนาเรื่องนี้สามารถชมเทปบันทึกภาพย้อนหลังได้ที่สร้างสุขแชนแนลวีเคเบิ้ลทีวี sangsook.net โสภณเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่องของดีประเทศไทย รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน FM 102.75Mhz Cleanradio92.5 Mhz


กำลังโหลดความคิดเห็น