ศธ.เซ็ง! งบถูกหั่นเพียบทั้งโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ เงินเดือนครูเอกชน และพัฒนาไอทีการศึกษาภาคใต้ ด้าน กมธ.ศึกษาธิการ ยาหอมเข้าใจปัญหาการลงทุนด้านการศึกษาสำคัญเล็งเสนอแปรญัตติให้
วันนี้ (22 พ.ค.) นายประกอบ รัตนพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลัง กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมาประชุมสัญจรร่วมกับผู้บริหารของสำนักงานปลัด กระทรวงศึกษาธิการ ช่วงปิดสมัยประชุม กมธ.การศึกษาสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ว่า กมธ.การศึกษาสภาผู้แทนราษฎร ได้เดินสายประชุมสัญจรเยือนหน่วยงานด้านการศึกษา เพื่อรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารหน่วยงานการศึกษาในประเด็นที่เป็นภารกิจสำคัญ โดยมีภารกิจ 3 เรื่องหลักที่ได้หารือร่วมกัน ได้แก่ 1.การติดตามนโยบายสำคัญว่าแต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน หรือมีปัญหาอุปสรรคใดบ้าง 2.การติดตามว่ามีโครงการสำคัญใดบ้างที่หน่วยงานทางการศึกษาขององค์กรหลัก ศธ.ได้ของบประมาณไปแล้ว แต่ถูกตัดงบประมาณจนส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา เพื่อจัดทำเป็นข้อสังเกตไปยังประธานพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557
และ 3.การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารองค์กรหลัก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ สป.ศธ. โดยภาพรวมทั้งหมดจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนั้นเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ตนยังได้ซักถามถึงโครงการที่มีความสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะเงินเดือนครูเอกชนปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งขณะนี้ทราบว่ายังไม่ได้มีการปรับ ดังนั้นจะต้องเร่งจัดสรรงบฯให้ครูเอกชนได้รับเงินดังกล่าวโดยเร็ว
ด้าน นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำหรับโครงการที่ถูกตัดงบประมาณไป คือโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะของ กศน.ที่ตั้งงบประมาณไว้ 900 ล้านบาท แต่ถูกตัดงบไปเหลือเพียง 450 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่อง แต่ดำเนินการไปได้เพียงครึ่งเดียวของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมดเท่านั้น จึงจำเป็นต้องหางบประมาณมาเติม เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการดำเนินงาน นอกจากนี้ สช.ยังจำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มเติมในการสนับสนุนเงินเดือนครูเอกชนให้ได้รับเงินปริญญาตรี 15,000 บาท เนื่องจากขณะนี้เราใช้งบของปี 2556 เพื่อชดเชยแต่ก็ยังไม่ถึง 15,000 บาท จึงจำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มเติมอีกในปี 2557 รวมถึงเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอซีที เพราะระบบการเรียนการสอนทางไกลมีประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เราก็ยังมีปัญหาโครงสร้างทางพื้นที่ด้านไอซีทีไม่เพียงพอจึงต้องขอตั้งงบประมาณอีกจำนวน 200 ล้านบาท แต่ก็ถูกตัดงบประมาณไปเช่นกัน
นายประกอบ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องงบประมาณที่ถูกตัดไปนั้น กมธ.การศึกษาสภาผู้แทนราษฎร จะรับไปหารือในชั้นแปรญัตติงบประมาณให้ เพราะการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะการลงทุนทางการศึกษานั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน และต้องให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาด้วย