xs
xsm
sm
md
lg

“แมงแคงจิก” แมงป่ายอดเมนูเด็ดอีสาน ทุบสถิติแชมป์ราคาแพงที่สุด 1,000 บาท/กก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครพนม - “แมงแคงจิก” แมงป่ายอดเมนูเด็ดอีสาน ทุบสถิติแชมป์ราคาแพงที่สุด นครพนมขายกิโลกรัมละ 1,000 บาท แม่ค้าต้องสั่งมาจากมุกดาหาร เหตุหายาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากป่าชุมชนถูกทำลายจากการถูกเผา

วันนี้ (6 พ.ค. 56) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนมว่า จากการเก็บสถิติราคาอาหารพื้นเมืองที่ได้จากป่าชุมชนธรรมชาติตั้งแต่ย่างเข้าหน้าร้อนจนถึงฤดูฝน จะมีอาหารหลายชนิดที่ชาวบ้านตามชนบทหาจากป่าชุมชนมาจำหน่ายเสริมรายได้ตามวิถีชีวิตและสะท้อนถึงวิกฤตห่วงโซ่อาหารพื้นเมืองหายากและแพงขึ้นทุกปี อาทิ ไข่มดแดง ซื้อขายกันกิโลกรัมละ 500 บาท แมลงจินูนกิโลกรัมละ 300 บาท เห็ดผึ้งกิโลกรัมละ 300 บาท เห็ดเผาะกิโลกรัมละ 400 บาท

และในเดือนเมษา-พฤษภาคมขณะนี้จะมีแมลงชนิดหนึ่งคือ “แมงแคงจิก” ตัวแบนๆ เล็กๆ อาศัยอยู่ในป่าต้นจิก ต้นค้อ ชาวบ้านจะหามาจำหน่ายให้กับแม่ค้ามาขายต่อในราคาที่แพงมาก

นางลัดดา หงส์ทอง อายุ 45 ปี แม่ค้าขายแมงแคงจิก ในตลาดสดเทศบาลเมืองนครพนม เปิดเผยว่า ปีนี้ตนต้องสั่งซื้อแมงแคงจิก จากจังหวัดมุกดาหาร ในราคากิโลกรัมละ 900 บาท นำมาขายต่อกิโลกรัมละ 1,000 บาท โดยแบ่งขายกองละ 50 บาทก็จะมีกำไรกิโลกรัมละ 1,000-1,500 บาท ถึงแม้แมงแคงจิก จะมีราคาแพงแต่ชาวบ้านก็ซื้อไปบริโภค โดยนำไปคั่วใส่เกลือจะอร่อยมาก

“ฉันซื้อมาเท่าไรก็ขายหมด และที่ฉันแปลกใจคือในพื้นที่จังหวัดนครพนม ที่ชาวบ้านหามาขายให้ปีนี้ไม่มีเลย ชาวบ้านบอกว่าหายาก แทบไม่มี เนื่องจากป่าชุมชนถูกเผาทำลายทำเกษตรอย่างอื่นทำให้แหล่งแมงแคงจิกหายไป ที่มุกดาหารมีนั้นเนื่องจากยังมีป่าภูเขาแถบอำเภอดงหลวง จึงมีแมลงแคงจิกอาศัยอยู่”

สำหรับ “แมงแคงจิก” ชื่อพื้นบ้าน แมงแคง, แมงแคงค้อ, แมงขิว (จอมยุทธ์ใบไม้ผลิ)

ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่ มีขนาดยาวประมาณ 25-31 มม. และส่วนกว้างตอนอก กว้างประมาณ 15-17 มม. ตัวเต็มวัยตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มตามใบหรือเรียงตามก้านดอก ไข่กลุ่มหนึ่งจะมีจำนวนโดยเฉลี่ย 14 ฟอง ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ประมาณ 7-14 วัน ตัวอ่อนจะมีสีแดงมีการลอกคราบ 5 ครั้ง ระยะตัวอ่อนกินเวลาประมาณ 61-74 วัน จึงจะเจริญออกมาเป็นตัวเต็มวัย แมงแคงมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่ มีขนาดยาวประมาณ 25-31 มิลลิเมตร ส่วนอกกว้างประมาณ 15-17 มิลลิเมตร

แหล่งที่พบ ตามต้นค้อ (ตะคร้อ) ต้นจิก ต้นฮัง และป่าเต็งรังทั่วไป ส่วนมากพบตามต้นค้อ แมงแคงอันนี้กินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อนต้นค้อ จึงพบได้ตามต้นค้อเป็นหลัก แต่ทางภาคเหนือ พบตามต้นลำไย ช่วงที่พบได้ง่าย ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.ตามต้นค้อที่กำลัง งอกใบใหม่

วงจรชีวิต แมงแคง มีอายุขัย นับตั้งแต่ไข่-ตัวเต็มวัย-ตาย อายุได้ 1 ปี วงจรชีวิตเริ่มจาก เม.ย.-พ.ค.ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มอยู่ตามใบและก้านดอกของต้นค้อ หรือพืชอื่นๆ มักวางไข่เป็นกลุ่มๆ ละ 5-28 ฟอง ระยะเวลาโดยประมาณ ระยะไข่ใช้เวลา 7-14 วัน ระยะตัวไม่เต็มวัย 105-107 วัน ระยะตัวเต็มวัยอาจมีอายุมากถึง 90 วัน หรือเกินกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น