อุบลราชธานี - คนเมืองดอกบัวทุกสาขาอาชีพระดมความคิดตั้งสภาเครือข่ายพลเมือง กำกับดูแลการลงทุนการพัฒนาของรัฐให้ตรงกับความเป็นอยู่ของชุมชน แนะ ผวจ.-นายก อบจ.-ส.ส.ฟังก่อนทำ เพราะผลกระทบอยู่กับเมืองไปจนวันตาย
วันนี้ (17 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุบลราชธานี ว่าหลังจากที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองอุบลราชธานีทำแบบไร้ทิศทาง เพราะถูกส่งจากข้างบนลงมาสู่ข้างล่าง คือ รัฐเป็นผู้กำหนด จึงไม่ตอบสนองความต้องการของผู้อยู่ คือ ชาวบ้าน ทำให้เป็นแรงกระตุ้นให้ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน พ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการบำนาญ นักวิชาการ สื่อมวลชน จัดเวทีหารือการร่างธรรมนูญสภาเครือข่ายพลเมืองอุบลราชธานี เพื่อใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ มียุทธศาสตร์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเมือง และวัฒนธรรม เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองได้รับการพัฒนาอย่างมีทิศทาง ตรงต่อความต้องการ โดยมีตัวแทนองค์กรต่างเข้าประชุมกว่า 50 คน ที่ห้องประชุมโกเมน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
หลังการประชุม สื่อสร้างสุขอุบลราชธานีได้เชิญตัวแทนผู้ก่อตั้งสภาเครือข่ายพลเมือง แสดงความเห็นถึงทิศทางที่จะมีการตั้งสภาเมืองในหัวข้อ “สภาเครือข่ายพลเมืองอุบลราชธานี รวมพลังสร้างบ้านแปงเมือง” โดยมี ผศ.ดร.มนูญพงษ์ ศรีวิรัตน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันทำหน้าที่กองเลขาธิการสภาเครือข่ายพลเมือง นายสมพงษ์ โลมะรัตน์ อดีตข้าราชการบำนาญ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนายนพภา พันธ์เพ็ง อดีตข้าราชการบำนาญ สื่อมวลชนอิสระ และเป็นกรรมการสภาเครือข่ายพลเมือง
นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการ ได้ถามถึงจุดกำเนิดความคิดตั้งสภาเมือง ซึ่งนายสมพงษ์ระบุว่าที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองอุบลราชธานีทำแบบไร้ทิศทาง เพราะถูกส่งจากข้างบนลงมาสู่ข้างล่าง คือ รัฐเป็นผู้กำหนดออกแบบสิ่งที่จะทำ จึงไม่ตอบสนองความต้องการของผู้อยู่ คือ ชาวบ้าน จึงมีคนร่วมคิดว่าปัจจุบันรัฐธรรมนูญเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็นกำหนดชีวิตของตนเอง ด้วยการกำกับดูแลการทำงานหน่วยงานของรัฐ เพราะที่ผ่านมาพัฒนาแบบต่างคนต่างทำ มีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัย และขณะนี้เมืองอุบลราชธานีมีอัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับต้นของภาคอีสาน
“ปัจจุบันเมืองมีปัญหาทั้งเรื่องการจราจร ขยะล้นเมือง น้ำเสียถูกระบายลงสู่ลำมูลน้อย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบใช้ผลิตประปา ทำให้น้ำประปามีคุณภาพต่ำ แต่ไม่มีการแก้ไข และมีโอกาสที่ลำน้ำมูลน้อยจะเน่าเสียในอนาคต เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้า ไม่ต้องรอให้เกิดเหตุขึ้นก่อน แต่หน่วยงานภาครัฐยังไม่คิดทำในขณะนี้ เมื่อมีสภาเครือข่ายพลเมือง ก็สามารถเสนอความเห็นของตนเองไปถึงหน่วยงานได้ เพื่อหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้า” นายสมพงษ์กล่าว
ขณะที่นายนพภา สื่อมวลชนอิสระ กล่าวถึงการพัฒนาเมืองที่ผ่านมาว่า รัฐมีระบบขั้นตอนสั่งงาน ทำให้งานล่าช้า รวมทั้งคนระดับล่างไม่มีโอกาสเสนอความเห็น ไม่เหมือนการวางระบบของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งวางระบบการทำงานแนวราบ มีกองงานคอยดูแลโดยตรง ข้อเสนอของผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติไม่ต้องถูกส่งต่อมาเป็นหลายขั้นตอนเหมือนระบบราชการไทย งานจึงออกมาถูกต้องตามความต้องการของผู้ให้และผู้รับ
สำหรับที่มาของสภาเครือข่ายพลเมือง องค์กรต่างๆ จะคัดเลือกส่งคนเข้ามา ไม่ยึดกับตำแหน่ง แต่มองถึงผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นรายเรื่อง ถือเป็นมิติของการทำงานของสภาแห่งนี้ นอกจากนี้สภาเครือข่ายพลเมือง จะรวบรวมข้อมูลทุกด้านของสังคมในจังหวัด ใช้เป็นตัวกำหนดยุทธศาสตร์การลงทุนของรัฐและเอกชน อดีตคนของรัฐทราบปัญหา แต่ไม่กล้าชน เพราะกลัวมีคดีตามหลังเมื่อไปรับราชการที่อื่น จึงทำตัวอยู่นิ่งๆ ดีกว่า ทำให้เมืองยังมีปัญหาถึงทุกวันนี้
ด้าน ผศ.ดร.มนุญพงษ์กล่าวถึงประเด็นเดียวกันว่า นอกจากสภาดูเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่รัฐให้มา ยังต้องทำเครือข่ายในกลุ่มเด็กเยาวชน ไม่ให้ใช้เวลาว่างในห้างสรรพสินค้า โดยสอนให้จัดเก็บข้อมูล แล้วนำไปแชร์เป็นเครือข่าย ให้รู้ที่ไปที่มารากเหง้าของเมืองอุบลราชธานีว่าเป็นมาอย่างไร โดยแชร์กับเพื่อนในต่างจังหวัดไปจนถึงต่างประเทศ เพราะอีก 2 ปีข้างหน้าเมืองอุบลราชธานีจะมีอายุครบ 250 ปี ทุกคนสามารถช่วยกันคิดจะทำอะไรให้เมือง จะทำอะไรให้ในหลวงเนื่องในโอกาสนี้
ขณะที่ตัวแทนองค์กรต่างๆ ระบุว่า ทรัพยากรของจังหวัดมีอยู่มาก ทั้งภาคเกษตรกรรม แรงงาน ต้องร่วมกันคิดนำออกมาใช้เกิดประโยชน์กับชุมชนในจังหวัดก่อน พร้อมเสนอว่าสภาเมือง คือ ผู้ปลุกยักษ์หลับให้ตื่นขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสังคมเมืองนี้
สำหรับ ผศ.เกษม บุญรมย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ส.ส. ว่าสภานี้ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ในการทำงาน แต่คนเมืองนี้ต้องการให้ฟังความเห็น ด้วยการเชิญเข้าไปพูดคุยหารือ เมื่อจะเอาโครงการลงทุน หรือโครงการพัฒนาใหญ่ๆเข้าสู่เมือง ก็ต้องฟังคนเมืองนี้ก่อน เพราะถ้าเกิดผลกระทบจะอยู่กับคนเมืองนี้ไปจนวันตาย แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดมาแล้วก็ไป ส่วน ส.ส.ก็สามารถไปพูดในสภาได้ว่า ทั้งหมดคือความต้องการของประชาชนเมืองนี้จริงๆ
ทั้งนี้ สภาเครือข่ายพลเมืองอุบลราชธานีจะมีกองงานเลขาธิการเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงาน มีอาสาสมัครทำหน้าที่ประจำสำนักงาน เมื่อมีโครงการสำคัญทั้งของเอกชนและรัฐ คณะกรรมการที่ผ่านการคัดเลือกมาจากตัวแทนองค์กรต่างๆ จะตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา กำหนดรูปแบบ ทิศทาง ไม่ให้มีผลกระทบกับชุมชนที่โครงการต่างๆเข้าไปดำเนินการ
สำหรับการประชุมและความเห็นในการตั้งสภาเครือข่ายพลเมืองครั้งนี้ สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่สร้างสุขแชนแนล วีเคเบิ้ลทีวี sangsook.net โสภณเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่องของดีประเทศไทย รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน FM 102.75Mhz Cleanradio 92.5 Mhz