xs
xsm
sm
md
lg

คนอุบลฯ ตั้งคำถาม “ด่านตำรวจไทยเพื่อลดอุบัติเหตุ หรือจงใจรีดไถกันแน่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาตั้งด่านรีดไถประชาชนด้วยข้ออ้างสารพัดข้อหานั้นเกิดขึ้นทุกพื้นทั่วประเทศ
อุบลราชธานี - สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี เปิดวงสนทนาถามจี้ใจดำตำรวจตั้งด่านป้องอาชญากรรมลดอุบัติเหตุ หรือรีดไถกันแน่ ด้านสภาทนายความแนะไม่ควรดักซุ่มตามตรอกซอกซอย กระโดดขวางรถ เพราะอันตราย

ที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์ แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การ USAID ประเทศไทย จัดถกกรณีด่านตรวจตำรวจไทยจริงใจหรือไร้มาตรฐาน เพื่อตอบคำถามสังคมในการตั้งด่านเป็นการป้องกันอาชญากรรมจริง หรือต้องการหาเงินเข้ากระเป๋าใคร

นายกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการสอบถาม พ.ต.ท.สุพจน์ จงอุตส่าห์ รองผู้กำกับการตำรวจจราจร สภ.เมืองอุบลราชธานี ถึงจุดประสงค์การมีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งรองผู้กำกับการตำรวจจราจรผู้นี้ระบุว่า ประเทศไทยมีด่านตรวจที่ถูกต้อง และได้รับการอนุมัติจาก ครม. คือ ด่านตรวจตามพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่แบบถาวร ส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็น “จุดตรวจ และจุดสกัด” ไม่ใช่ด่านตรวจตามที่เข้าใจกัน โดยจุดตรวจของเจ้าหน้าที่จะตั้งไม่เกิน 24 ชั่วโมง

ส่วนจุดสกัดตั้งตามเหตุการณ์ความจำเป็นในการสกัดจับคนร้ายที่ก่ออาชญากรรม และใช้เวลาไม่นาน หลังเหตุการณ์ผ่านไปก็จะเลิก การตั้งจุดสกัดปกติมีเวลาเฉลี่ยราว 1-3 ชั่วโมง การตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัดต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรยศ ร.ต.ต.เป็นอย่างน้อยเป็นผู้ควบคุม และมีการลงประจำวันบริเวณจุดที่ตั้งอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการตั้งด่านลอยรีดไถ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีต

กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องออกมาตรการควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่นอกแถวสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

นายตำรวจคนนี้ยังกล่าวอีกว่า การตั้งจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจเน้นตรวจตามหลัก 3 ม 2 ข เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามกฎหมาย รวมทั้งเน้นตรวจจับผู้ดื่มสุราแล้วขับ โดยจุดตรวจเน้นบริเวณถนนรอบเมืองที่เป็นแหล่งเที่ยวกลางคืน เพื่อลดอุบัติเหตุ ส่วนการตรวจจับผู้ไม่สวมหมวกนิรภัย เพราะต้องการลดอันตรายการบาดเจ็บ ตาย ระหว่างขับขี่รถจักรยานยนต์ แต่ยอมรับว่า “การตั้งจุดตรวจยังไม่สามารถช่วยลดปริมาณการเกิดอุบัติเหตุ แต่ช่วยลดความรุนแรงขณะเกิดเหตุได้ และบางครั้งก็ตรวจจับรถที่ขโมยแล่นเข้าที่ด่าน”

ส่วนค่าปรับ สภ.เมืองอุบลราชธานี มียอดเฉลี่ยเดือนละเกือบหนึ่งล้านบาท แต่เงิน 60% ส่งให้เทศบาลนำไปใช้พัฒนาปรับปรุงเครื่องมือจราจร ที่เหลือเป็นรายได้ของผู้จับ แต่ได้รายละไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อคน

ส่วนข้ออ้างมีการรีดไถไม่มีการออกใบเสร็จของทางการต้องการให้ประชาชนช่วยกันใช้กล้องโทรศัพท์มือถือถ่ายพฤติกรรมของตำรวจนอกแถว เพื่อดำเนินการทางวินัย และคดีอาญา แต่ที่ผ่านมามีแต่เสียงบ่นผ่านเฟซบุ๊ก แต่ไม่มีหลักฐาน

นายกมล ได้ถามนายสุริยา หลักเขต ตัวแทนสภาทนายความจังหวัดอุบลราชธานี ถึงคดีผู้ถูกจับคดีจราจรส่วนใหญ่เป็นผู้ถูกจับคดีเมาแล้วขับ ซึ่งก็มีเสียงบ่น แต่หากถามว่าเจ้าหน้าที่ทำถูกตามกฎหมาย ก็ต้องถือว่าถูกต้อง แต่จะเหมาะสมด้วยวิธีการปฏิบัติหรือไม่ ต้องดูเป็นเรื่องๆ โดยเฉพาะการดักจับตามตรอกซอกซอย บางครั้งกระโดดออกมาขวางรถที่กำลังแล่น เป็นเรื่องไม่ควรทำ

ขณะประชาชนที่ร่วมรายการแสดงความเห็นว่า เห็นด้วยที่มีการตั้งด่านกวดขันจับคนเมาสุราแล้วขับ เพื่อไม่ให้ไปสร้างผลกระทบต่อผู้ใช้รถรายอื่น แต่ไม่เห็นด้วยกับการเรียกตรวจ เมื่อไม่พบการกระทำความผิดอื่นที่สำคัญ ก็จะมาเอาข้อหาไม่คาดเข็มขัดนิรภัยบ้าง ไม่เอาที่พักเท้าพับขึ้นบ้าง เพราะจงใจหารายได้มากกว่าเน้นป้องกันจริงจัง หรือบางครั้งก็ตบทรัพย์ขอเงินดื้อๆ

สำหรับการเสวนาเรื่องนี้ สามารถชมเทปบันทึกภาพย้อนหลังได้ที่สร้างสุขแชนแนล วี เคเบิลทีวี sangsook.net โสภณเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่อง ของดีประเทศไทย รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน FM.102.75Mhz Cleanradio 92.5 Mhz
สื่อสร้างอุบลราชธานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การ USAID ประเทศไทย จัดถกกรณีด่านตรวจตำรวจไทยจริงใจหรือไร้มาตรฐาน เพื่อตอบคำถามสังคมในการตั้งด่านเป็นการป้องกันอาชญากรรมจริง หรือต้องการรีดไถหาเงินเข้ากระเป๋าและเอาไปแบ่งปันกันเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น