อุบลราชธานี - คนเมืองอุบลฟันธงขอจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษาด้วยตัวเอง ไม่สนเงินภาครัฐที่ให้มาน้อยลงทุกปี ห้ามขายพื้นที่ให้เอกชนต่างจังหวัดมาขายของ แต่ให้ชาวบ้านนำของที่พื้นเมืองมาขายเอง ส่วนการละเล่นโยนห่วงปาเป้า บิงโกต้องเลิก เพราะเป็นการพนัน ให้สนับสนุนการละเล่นของเด็กพื้นเมืองแทน
วันนี้ (31 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ร่วมกับภาคประชาชน จัดเสวนาระดมความเห็น “เหลียวหลังแลหน้า เทียนพรรษาเมืองอุบล” ที่ลานเทียนสนามทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริหาหรือยูเสดประเทศไทย มีนายกมล หอมกลิ่น เป็นผู้ดำเนินราย มีภาคประชาชนลายสาขาอาชีพและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานจังหวัด เทศบาลนครอุบลราชธานี หอการค้าจังหวัด เข้าร่วมแสดงความเห็น
นายกมลสอบถามความเห็นจาก พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิด ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิเพื่อพัฒนาอุบล ถึงการจัดงานแห่เทียนพรรษาที่ผ่านมา ซึ่ง พล.ต.อ.ชิดชัยให้ความเห็นว่า เป็นประธานการจัดงานแห่เทียนพรรษามาหลายครั้ง และงานแห่เทียนพรรษาของอุบลราชธานี ต่างจากจังหวัดอื่นที่พยายามจัดแข่งขัน เพราะอุบลราชธานีจัดงานด้วยจิตวิญญาณที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ทำเป็นพุทธบูชาในวันเข้าพรรษา
“ผิดจาก จ.สุพรรณบุรี หรือ จ.นครราชสีมา ที่จัดงานเพียงโปรโมตดึงนักท่องเที่ยวไปเที่ยวงานตัวเอง แต่ของอุบลราชธานีก็ต้องมีการปรับปรุง เพราะยังมีความล้าหลัง วิธีการ คือ ให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของงาน แทนเทศบาล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หรือจังหวัด เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดมารับตำแหน่งแล้วก็ไป แต่ชาวบ้านอยู่กับภูมิปัญญา มีความรู้ความเข้าใจ และมีจิตวิญญาณเรื่องการจัดทำต้นเทียนพรรษา โดยควรตั้งเป็นมูลนิธิหารายได้จากการรับบริจาคจากประชาชน จากการจัดจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง จากพื้นที่โฆษณาในงาน”
พล.ต.อ.ชิดชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า จ.อุบลราชธานี มี ส.ส.11 คน ทุกคนต้องออกมาช่วยกัน ไม่จำเป็นต้องรอเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐก็ได้
ด้านนายวิชุกร กุหลาบศรี ผู้อำนวยการ ททท.สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุบลราชธานี กล่าวปฏิเสธข่าวลือที่จะโยกย้ายการจัดงานเทียนนานาชาติ ซึ่งเชิญศิลปินจากทั่วโลกมาร่วมงาน ไปจัดแสดงที่จังหวัดอื่นช่วงเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษาในปีนี้ โดยยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะการจัดงานเทียนนานาชาติ มีจุดประสงค์ใช้โปรโมทการจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษาของ จ.อุบลราชธานี ให้ชาวโลกรับรู้ จึงไม่สามารถย้ายไปจัดที่จังหวัดอื่นได้
“งบประมาณที่ให้มาน้อยลงทุกปี จากเดิมปีละเกือบ 10 ล้านบาท แต่ปีนี้อาจเหลือเพียง 3 แสนบาท แต่คาดจะได้มากกว่าตัวเลขนี้ และ ททท.ยังให้ความสำคัญกับงานประเพณีแห่ต้นเทียนพรรษาอุบลราชธานี ส่วนการจัดงานจังหวัดอื่นนั้น ททท.ไม่ได้เข้าไปสนับสนุน”
ขณะที่นายนิมิตร สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัด กล่าวว่า ชาวอุบลราชธานีทำต้นเทียนจากใจและแรงศรัทธา เพราะทุกคนเกิดมาก็อยู่กับต้นเทียน จึงสืบทอดกันมาถึงปีนี้ก็ 112 ปีแล้ว ในอดีตชุมชนจัดทำต้นเทียนพรรษาแบบมัดรวมติดตาย นำไปถวายวัดในวันสำคัญทางศาสนา โดยไม่คิดว่าจะเกิดเป็นประเพณีใหญ่โต แต่ลูกหลานรุ่นต่อมารับสือทอดแล้วนำเทคโนโลยีมาปรับปรุง ให้การจัดทำต้นเทียนน่าดูยิ่งขึ้น กระทั่งโด่งดังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ มีรายได้จากการจัดงานกว่า 20 ล้านบาท จึงเห็นด้วยกับแนวความคิดตั้งมูลนิธิดูแลการจัดงานแทนภาคราชการ
“คนอุบลราชธานีกว่า 1.8 ล้านคน บริจาคคนละ 1-2 บาทก็ได้เงินใช้จัดงาน ไม่ต้องรอรับการสนับสนุนจากภาครัฐเหมือนที่ผ่านมา”
นายชัยยศ โยธามาตย์ รองปลัดเทศบาลนครอุบลราชธานี กล่าวว่า เทศบาลจัดงบประมาณสนับสนุนปีละไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท แต่ในฐานะเป็นคนเมืองนี้ สามารถพูดได้ว่าแม้ไม่มีเงินสนับสนุนแม้แต่บาทเดียว คนในชุมชนก็ยังต้องทำต้นเทียนพรรษา เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ และอยากบอกให้รู้ว่าต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอื่นล้วนเป็นช่างจาก จ.อุบลราชธานีทั้งสิ้น แต่เป็นช่างมือรอง ไม่ใช่เบอร์หนึ่ง ถ้าต้องการดูศิลปะที่อ่อนช้อยงดงามของฝีมือช่างต้องมาดูของจริงที่อุบลราชธานีเท่านั้น
ขณะที่ภาคประชาชนเสนอว่าไม่ต้องการเห็นการนำพื้นที่รอบสถานที่จัดงานแบ่งขายเป็นล็อก แต่ต้องการให้นำพื้นที่มาให้ชาวบ้านนำสินค้าที่พื้นเมืองวางจำหน่าย เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าของจังหวัด ส่วนการละเล่นไม่ต้องการเห็นการปาเป้า บิงโก โยนห่วงเอาของ เพราะเป็นการพนัน ให้เปลี่ยนเป็นการละเล่นของเด็กพื้นเมือง เพื่อให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่บังคับให้มาแต่งตัวฟ้อนรำนำขบวน โดยไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยจิตวิญญาณเหมือนในอดีต
สำหรับการเสวนาครั้งนี้ สามารถชมเทปย้อนหลังได้ที่สร้างสุขแชนแนล วีเคเบิลทีวี sangsook.net โสภณเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม nextstep ช่องของดีประเทศไทยรายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน FM. 102.75Mhz Cleanradio 92.5 Mhz