เชียงใหม่ - พบคนแห่ทำ “ตะกรุดบัตรประชาชน” จากเณรหน้อย คนเชื้อสายชาวเขาเผ่าลัวะเชียงใหม่ หวังเพิ่มที่ยึดเหนี่ยวจิตใจตัวเอง เสริมดวง แก้โรคภัยไข้เจ็บ เพิ่มเมตตามหานิยม สะท้อนสังคม
ขณะนี้ที่บ้านเลขที่ 241 หมู่ 2 บ้านสันป่าสัก ต.หนองแฝก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ของนายณัฐฎฐชัย พชรพิสิษฐ์ อายุ 50 ปี ที่ชาวบ้านและลูกศิษย์เรียกว่าอาจารย์เณรหน้อย ผู้มีเชื้อสายชาวเขาเผ่าลัวะ ผู้ขึ้นชื่อเรื่องคาถาอาคม ซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ มาตั้งแต่เด็ก มีผู้คนที่เลื่อมใสแวะเวียนเข้ามาให้เขาทำ “ตะกรุดบัตรประชาชน หรือตะกรุดดวงดีบารมีเหนือดวง” เพื่อเสริมดวง เสริมเมตตามหานิยมกันอย่างไม่ขาดสาย ต้นตำรับวิชาครูบาต๋า บ้านเหล่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
“เณรหน้อย” บอกว่า ตะกรุดบัตรประชาชน หรือตะกรุดแนบเอกสารบัตรประชาชนที่ทำนี้มีพุทธคุณครอบจักรวาล พ้นทุกข์โศกโรคภัย จารอักขระล้านนาโบราณ พร้อมลงคาถาพระเจ้า 10 ชาติ คาถาอาวุธพระเจ้า หลังจากจารอักขระคาถาเสร็จแล้ว ก็นำไปแช่น้ำผึ้งที่นำไปถวายพระสีวลีทำให้ตระกรุดชนิดนี้มีพลังเข้มขลัง พุทธคุณครอบจักรวาล ใช้เวลาทำ 9 วัน หลังทำเสร็จ ให้เจ้าของตระกรุดนำสำเนาบัตรประชาชนมาม้วนเสียบไว้ในตะกรุดเพื่อเสริมดวงได้ นอกจากนี้ยังนำเอกสารบัตรประชาชนของคู่รักมาสอดด้วยเพื่อให้คนรักยืนยาว หรือนำของเจ้านายมาใส่ให้เจ้านายรักและเอ็นดูได้ด้วย
สำหรับอักขระที่ลงในตะกรุดนี้ โบราณอาจารย์ท่านว่าเป็นตะกรุดพระพุทธเจ้าเอาข้ามแม่น้ำ หมายความว่าจะทำให้พ้นทุกข์ พ้นโศก พ้นโรค พ้นภัย พ้นหนี้สิน พ้นเคราะห์ พ้นจากความเดือดร้อน อยู่เย็นเป็นสุข มั่งมีศรีสุข มีเมตา โชคลาภ มหาอำนาจ ค้าขายดีมีกำไร สามีภรรยาไม่นอกใจ มีชัยชนะ หมู่มาร กิจการรุ่งเรือง การงาน ยศถาบรรดาศักดิ์ก้าวหน้า หนุนดวงเสริมดวง ประสบความสำเร็จสมปรารถนา อยู่เป็นเป็นสุข มั่งมีศรีสุข มั่งคั่งร่ำรวย ตลอดกาล
“เณรหน้อย” หรือนายณัฐฎฐชัย บอกอีกว่า เขาเป็นชาวเผ่าลัวะอาศัยอยู่ที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เมื่ออายุได้ 8 ปี บิดามารดาได้เสียชีวิตลง ญาติจึงนำไปฝากอยู่กับพระที่วัดบ้านเปียง ต.บ้านแม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เริ่มต้นเรียนวิชาอาคมและวิชาหมอรักษาคนไข้จากหมอชนเผ่าพื้นเมือง จากนั้นก็อยู่รักษาคนไข้โดยใช้สมุนไพร พออายุได้ 11 ปี จึงบวชเณรที่วัดบ้านเปียง เรียนวิชาคาถาอาคม เช่น วิชาคงกระพัน แมวดำ จากพ่อส่างบ้านกาด เสือเจ็ดป๊อด ฯลฯ และเริ่มทำตะกรุด-สักยันต์ เมื่อสักเสร็จก็ลองของจนเป็นที่ร่ำลือกับไปทั่วในสมัยนั้น
ต่อมาอายุได้ 14 ปีก็เรียนจบนักธรรมเอก ช่วงนี้ได้ธุดงค์ไปทั่วทั้งเชียงใหม่ และชายแดนไทย พม่า สิบสองปันนา อายุ 16 ปี ได้ธุดงค์ไปที่วัดแม่ลาน้อย วัดแม่ลาหลวง จ.แม่ฮ่องสอน โดยรักษาคนไข้และทำตะกรุดแจกเพื่อกันภูตผีปีศาจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ อายุ 17 ปี ได้เรียนวิชากับครูบาสม โอภาโส ที่ “เสือวงค์ บ้านสันป่าตอง” ที่เคยปล้นครูบาสม โอภาโส ที่วัด แต่ท่านครูบาสมได้เสกเหรียญบาท จนเสือวงค์ยิงไม่ออกแม้แต่นัดเดียว เป็นคนแนะนำให้ โดยได้เรียนวิชาตะกรุดน้ำบ่อห่าง ฟันกำบาท สามสวยหนัง สามสวยต๋อง การอาบน้ำว่านยา จากนั้นครูบาสม ได้แนะนำให้ไปศึกษาวิชาต่อกับครูบาชุ่ม วัดวังมุย จ.ลำพูน ซึ่งได้เรียนวิชาตะกรุดหนังควายตายอยู่ในท้อง มาด้วย
พออายุ 19 ปีได้ไปรับใช้ครูบาดวงดี วัดท่าจำปี ซึ่งได้ช่วยทำตะกรุด 108 ลงแผ่นยันต์ เทียนฯลฯ ก่อนธุดงค์และเดินทางไปศึกษาวิชาที่สำนักเขาอ้อ จนได้วิชาอยู่ยงคงกระพัน มหาอุตม์ เมตตามหานิยม ต่อมาได้พบกับหลวงพ่ออุทัยอุททโย วัดวิหารสูง จ.พัทลุง ซึ่งก็มาเรียนวิชาที่สำนักเขาอ้อด้วย แล้วจึงไปเรียนวิชากับอาจารย์นอง วัดทรายขาว อาจารย์ทองวัดสำเภาเชย หลวงปู่เขียววัดห้วยเงาะ หลวงพ่อสร้อย จ.ตาก ครูบาวัง วัดบ้านเด่น
พร้อมกับได้ธุดงค์ไปหาท่านพุทธทาสภิกขุ วัดป่าสวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อศึกษาวิชาวิปัสสนาและกรรมฐาน ซึ่งท่านพุทธทาสได้แนะนำไปหาท่านปัญญานันทภิกขุ ที่วัดชลประทานฯ เพื่อเรียนวิปัสสนากรรมฐานเพิ่มเติมอีก
จากนั้นจึงได้มาอยู่ที่วัดหวลการณ์ (สันป่าสัก) ต.หนองแฝก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เคยนั่งบนตะปูที่ชาวบ้านตะไบจนแหลมคมทุกเช้า ซึ่งมีชาวบ้านใน อ.สารภี และอำเภอใกล้เคียงมาดูกันเป็นจำนวนมาก จนท่านได้รับสมยานามว่า “เณรหน้อยนั่งบนตะปู” เป็นที่กล่าวขานกันทั่วไป พออายุได้ 21 ปี ได้ลาสิกขามารับใช้ครูบาดวงดี วัดท่าจำปี ช่วงที่ท่านครูบาอายุ 98 ปี ท่านเขียนยันต์ไม่ค่อยจะได้ เณรหน้อยจึงทำถวายแทนจนท่านมรณภาพ