ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้บริหาร “พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ คอนสตรัคชั่น” ตั้งโต๊ะแถลงโต้ทิ้งงาน สร้างโรงพัก-แฟลตตำรวจ โวยถูกสังคมพิพากษาล่วงหน้า แจงยิบทุกประเด็น ก่อนขอสิทธิที่ควรได้ ยันได้ไฟเขียวขยายเวลาก่อสร้างล่าสุด ต.ค. 55 สิ้นสุด ส.ค. 56
วันนี้ (21 ก.พ.) นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกูล ประธานกรรมการบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ คอนสตรัคชั่น จำกัด พร้อมด้วยนายวิศณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการ และนายนวพล พรัดมะลิ ทนายประจำบริษัท ร่วมแถลงข่าวที่ห้องประชุมบริษัท เพื่อชี้แจงปัญหาที่บริษัทถูกกล่าวหาว่าฮั้วประมูล ฉ้อโกง ทำงานล่าช้า และทิ้งงาน ในโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ และแฟลตตำรวจ
นายวิบูลย์กล่าวว่า บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 500 ล้าน และมีบริษัทในเครือมากมายเกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้าง รวมทั้งซื้อขายที่ดิน สำหรับการรับเหมาก่อสร้างโครงการสถานีตำรวจ 1 สัญญา วงเงินงบประมาณ 6,676 ล้านบาท ประมูลได้ในราคา 5,848 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังดำเนินโครงการอื่นมาแล้วใน 22 สัญญา 29 โครงการ ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเอื้ออาทรทั่วประเทศ
นายวิศณุกล่าวว่า วันนี้บริษัทฯ ถูกสังคมพิพากษาว่าเป็นบริษัทฮั้วประมูล ฉ้อโกง ล่าช้า และทิ้งงาน จึงขอชี้แจงในแต่ละประเด็นให้สังคมเข้าใจ กรณีฮั้วประมูลจริงๆ แล้วโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ 396 หลัง งบประมาณ 6,676 ล้านบาท แยกเป็นสถานีขนาดเล็ก 172 โครงการ ขนาดกลาง 136 โครงการ และขนาดใหญ่ 88 โครงการ บริษัทประมูลได้ในวงเงิน 5,848 ล้านบาท ซึ่งราคากลางกำหนดไว้ที่ 6,388 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 8.45% ซึ่งไม่เกิน 15% ถือว่าเป็นตัวเลขปกติ ไม่จำเป็นต้องทำเอกสารชี้แจงต่อผู้ว่าจ้าง
“ประเด็นเรื่องการเปิดประมูลรวมทั้งประเทศ เรื่องนี้บริษัทฯ ก็ไม่เห็นด้วย และได้มีหนังสือเลขที่ 001/2552 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 ถึงนายกรัฐมนตรี ว่าหากสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะจัดจ้างแบบรวมรายการ 396 หลังเป็นสัญญาเดียว และก่อสร้างที่พักอาศัย 163 แห่งเป็นสัญญาเดียว ทางบริษัทขอความกรุณาจากนายกรัฐมนตรีอย่าได้ลงนามอนุมัติหรือเห็นชอบโดยเด็ดขาด”
นายวิศณุกล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องฉ้อโกง ซึ่งมีข่าวว่าบริษัทฯ เบิกเงิน 1,600 ล้านบาทแล้วทิ้งงาน และโกงผู้รับเหมาช่วงนั้น ขอยืนยันว่า บริษัทเบิกเงินล่วงหน้าเพียง 877.20 ล้านบาท หักภาษีแล้วเหลือเพียง 858,810,507.54 บาท ยังฝากไว้ในธนาคาร 455,627,468.74 บาท คงเหลือใช้ดำเนินงานเบื้องต้น 403,183,038.80 บาท ตามหนังสือยืนยันจากธนาคารออมสิน สาขาประตูช้างเผือก ลงวันที่ 31 มกราคม 2556 ซึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการนี้ เบิกเงินค่างวดงานแล้ว 719,927,605.00 บาท แยกเป็นปี 2554 วงเงิน 49,672,280 บาท ปี 2555 วงเงิน 648,097,825 บาท และปี 2556 วงเงิน 22,157,500 บาท
“ขณะนี้ผู้รับเหมาเบิกเงินล่วงหน้าไปแล้ว 74 สถานี รวม 15,975,746 บาท ค้างจ่ายให้อีก 46 สถานี จำนวน 32,162,217 บาท ซึ่งมีสินค้าเข้าไซต์งาน 257 สถานี มูลค่า 259,907,049 บาท งานเกินงวดหรือยังไม่ทำงาน ก็อยากถามเหมือนกันว่า ในขณะที่วิธีปฏิบัติการก่อสร้างนั้นกว่าจะได้เงินต้องลงมือก่อสร้าง ตั้งเบิก จ่ายค่าแรง ซึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้นขอยืนยันว่าผู้รับเหมาทุกรายจะได้เงินแน่นอน ยกเว้นผู้รับเหมาประเภทกำมะลอที่มาแอบอ้างเท่านั้น”
นายวิศณุกล่าวว่า ส่วนเรื่องก่อสร้างล่าช้าเพราะมีขั้นตอนมากมาย ตั้งแต่การส่งมอบพื้นที่ การรับมอบพื้นที่ สำรวจพื้นที่ เพื่ออนุมัติขนาดเสาเข็ม และอื่นๆ ต้องใช้เวลากว่า 100 วัน เช่น กรณีของเชียงใหม่ เพิ่งส่งมอบพื้นที่ให้เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2555 ดังนั้น ขั้นตอนการก่อสร้างใช้เวลา ที่สำคัญพื้นที่แต่ละแห่งมีศักยภาพไม่เหมือนกัน อย่างที่ จ.เชียงใหม่อยู่ในพื้นที่ผังเมือง ความสูงต้องไม่เกิน 12 เมตร จึงต้องจัดทำแบบแปลนให้สมบูรณ์ ทุกอย่างต้องใช้เวลาทั้งสิ้น
“บริษัทฯ ขอยืนยันว่า โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจที่ประมูลได้ ไม่มีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคปรชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทไม่ออกมาชี้แจงจนตกเป็นจำเลยของสังคม แต่เอกสารทุกเรื่องได้ส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอไปแล้ว โดยชี้แจงถึง 14 ข้อ สามารถบอกได้เลยว่ามีใครบ้างเกี่ยวข้อง หาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ต้องการสอบถามข้อมูลการดำเนินการของบริษัทฯ ก็พร้อมที่จะไปชี้แจงทันที” นายวิศณุกล่าว และว่า เรายังมีความหวังที่จะได้สิทธิที่ควรจะได้ เพราะถือว่าไม่ได้ทำผิดสัญญา แต่ถ้าตกอยู่ในฐานะของผู้เสียหายก็คงต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และกอบกู้ชื่อเสียงของบริษัทกลับคืนมา
นายวิศณุย้ำอีกว่า บริษัทฯ ได้ส่งงานไปแล้ว 700 งวด ต่อสัญญาไปแล้ว 3 ครั้ง ด้วยเหตุผลการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับผู้รับจ้างล่าช้าถึง 4 ครั้ง ล่าสุดได้รับอนุมัติขยายระยะเวลา ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2556 เป็นเวลา 248 วัน แล้วมาบอกว่าบริษัทผิดเงื่อนไขสัญญาการจ้างช่วงได้อย่างไร ซึ่งหากมีอะไรผิดพลาดผู้รับเหมารับช่วงไม่มีความผิด แต่จะทำให้บริษัทซึ่งคู่สัญญาโดยตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความผิด