ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ดีเอสไอแถลงข่าวทลายแก๊งแชร์ “สามระบบสยบความจน” หลังพบเดินสายหลอกลวงคนทั่วภาคเหนือ ชวนทำธุรกิจขายตรง-ทำสหกรณ์-จ่ายเงิน 1 แสนเมื่อเสียชีวิต แต่ความจริงพบไม่มีสินค้าขาย-ไม่เคยตั้งสหกรณ์-ไม่จ่ายเงินช่วยเหลือ แถมหลอกประชาชนสมัครสมาชิกได้เงินไปอีกเพียบ พบเบื้องต้นตุ๋นเงินคนเหนือได้ร่วม 30 ล้าน “เชียงใหม่-เชียงราย” โดนเยอะสุด
วันนี้ (11 ก.พ.56) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงข่าวการจับกุมแชร์สามระบบสยบความจน ณ ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ โดยมีประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากแชร์ดังกล่าวจำนวนประมาณ 30 คน เดินทางมาขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ดีเอสไอในการจับกุมเครือข่ายแชร์ดังกล่าว
การจับกุมเครือข่ายแชร์ในครั้งนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าตรวจสอบบริษัท ธรธรรมไทย เน็ทเวิร์ค จำกัด และ หจก.ตื่นได้เงินแสน พร้อมทั้งควบคุมตัวนางณกนกภ์ ธุรกิจ กรรมการบริษัท ธนธรรมไทย เน็ทเวิร์ค จำกัด และนายพรศิลป์ อินตานันท์ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.ตื่นได้เงินแสน ในข้อหากู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและฉ้อโกงประชาชน หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนหลายท้องที่ในจังหวัดภาคเหนือ ว่าถูกผู้ต้องหากลุ่มนี้หลอกลวงด้วยการนำเสนอแผนการประกอบธุรกิจภายใต้ชื่อ “สามระบบสยบความจน” ซึ่งประกอบด้วย 1. ตื่นได้เงินแสน 2. ตายได้เงินแสน และ 3. กู้ได้เงินแสน โดยอ้างกับผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับเงินเมื่อเสียชีวิตรายละ 1 แสนบาท แต่เมื่อมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกลับไม่มีการจ่ายเงินจริงตามที่กล่าวอ้าง
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ต้องหาจะอาศัยการนำเสนอแผนธุรกิจผ่านการโฆษณาชวนเชื่อทางอินเทอร์เน็ต การบรรยายตามโรงแรมต่างๆ และการชวนให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิกเข้าร่วมธุรกิจ โดยอ้างว่าจะสร้างรายได้ผ่านช่องทางต่างๆ ประกอบด้วย 1. ทำธุรกิจขายตรง หากสมาชิกสามารถชักชวนผู้อื่นมาร่วมสมัครสมาชิกได้ จะได้รับค่าตอบแทนวันละ 200-1,600 บาท 2. ดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ธนธรรมไทย ซึ่งสมาชิกสามารถกู้เงินในวงเงิน 1 แสนบาท และ 3. อ้างว่าจะจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือสมาชิกกรณีเสียชีวิต โดยจะได้รับเงินเมื่อเสียชีวิตรายละ 100,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อดีเอสไอทำการตรวจสอบกลับพบว่าธุรกิจขายตรงที่ทางกลุ่มผู้ต้องหากล่าวอ้างไม่เคยมีการจำหน่ายสินค้าจริง โดยมีเพียงสินค้าตัวอย่างแถมให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น อีกทั้งยังมีการจดทะเบียนธุรกิจขายตรงภายหลังชักชวนประชาชนให้ร่วมธุรกิจแล้ว ขณะที่การอ้างว่ามีการจัดตั้งสหกรณ์นั้น เมื่อตรวจสอบไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์ไม่พบการจัดตั้งสหกรณ์ตามกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนกรณีกองทุนช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตพบว่าไม่มีการจ่ายเงินจริงตามที่โฆษณาไว้
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการชักจูงให้ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจ่ายเงินค่าสมัครคนละ 2,650 บาท และหากต้องการเป็นหัวหน้าสายหรือ Stock Kits ต้องซื้อหุ้น 5,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท รวมเป็นเงิน 50,000 บาท ทำให้กลุ่มผู้ต้องหาสามารถหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนผู้เสียหายได้เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ผู้เสียหายเข้าร้องเรียนต่อดีเอสไอ ก่อนที่ดีเอสไอจะสอบสวนจนพบการกระทำความผิดและเข้าจับกุมดังกล่าว
นายสุประดิษฐ์ ปัญญาสุริยะโชติ หนึ่งในกลุ่มผู้เสียหายที่เข้าร้องเรียนต่อทางดีเอสไอกล่าวว่า ทางบริษัทอ้างว่าจะทำการจัดตั้งสหกรณ์ รวมทั้งจะมีการตั้งกองทุนช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต ทำให้มีคนหลงเชื่อสมัครเป็นสมาชิก อีกทั้งยังนำเสนอแผนธุรกิจขายตรงที่อ้างว่าจะสร้างรายได้จำนวนมากหากเป็นหัวหน้าสาย ทำให้มีผู้สนใจลงทุนร่วมธุรกิจด้วยเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อสมัครเป็นสมาชิกแล้วพบว่าไม่มีการจัดตั้งสหกรณ์อย่างที่กล่าวอ้าง ขณะที่การจ่ายเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขจาก 100,000 บาทเหลือ 30,000 บาท จนกระทั่งเบี้ยวไม่ยอมจ่ายเงินให้สมาชิก ทำให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนรวมตัวกันมาร้องเรียนต่อทางดีเอสไอ โดยได้นำเอกสสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมามอบให้เจ้าหน้าที่ โดยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่นั้นคาดว่าน่าจะมีผู้หลงเชื่อถูกเครือข่ายเหล่านี้หลอกลวงนับหมื่นราย
ด้านนายธาริตกล่าวว่า บริษัทและ หจก.ดังกล่าวมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ดีเอสไอได้ติดตามตรวจสอบพฤติกรรมและการดำเนินงานของกลุ่มคนร้ายประมาณ 2 เดือนก็จะขอหมายศาลเข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหา จากการสอบสวนพบว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดยในภาคเหนือคาดว่ามีผู้เสียหายประมาณ 12,000 ราย ขณะที่ผู้เสียหายที่เข้าร้องทุกข์ต่อทางดีเอสไอในขณะนี้มีทั้งสิ้น 880 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 30 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงจะสูงกว่านี้ เนื่องจากยังมีผู้เสียหายอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าร้องเรียนต่อทางดีเอสไอ