xs
xsm
sm
md
lg

จี้ผู้ว่าฯ-สวล.-สตง. สอบบ่อขยะเถื่อนพิษณุโลก ย้ำผิดต้องสั่งปิด เรียกเงินคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนรินทร์ วัฒนกุลชัย นายก อบต.อรัญญิก จ.พิษณุโลก
พิษณุโลก - ชาววังน้ำคู้ เมืองสองแคว จี้ปิดบ่อขยะเถื่อน พร้อมให้ผู้ว่าฯ-สตง.ตรวจสอบ อปท.ขนขยะทิ้งบ่อไม่มีใบอนุญาต พร้อมเรียกเงินคืน ขณะที่บาง อบต.บอกเลิกแล้ว วอนรัฐบังคับใช้กฎหมายกับบ่อขยะที่ไม่ถูกต้อง

วันนี้ (26 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีการนำเสนอข่าวชาวบ้านไผ่หลง หมู่ 7 ต.วังน้ำคู้ อ.เมืองพิษณุโลก ร้องเรียนบ่อขยะส่งกลิ่นเหม็น อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ จนล่าสุด จ.ส.อ.ปรีชา เทศสกุลวงศ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วังน้ำคู้ ระบุว่า บ่อขยะเป็นของนายประจักษ์ ปานสุริยะ กำนันตำบลวังน้ำคู้ ที่รับทิ้งขยะมา 6-7 ปี และไม่ได้ขออนุญาตนั้น

ล่าสุด ชาวบ้านเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมสั่งปิดบ่อขยะดังกล่าว เพราะเป็นอันตรายต่อคนหลายหมู่บ้าน รวมไปถึงคนที่อาศัยอยู่ด้านใต้ลำคลอง พร้อมทั้งขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาดูแล หากตรวจสอบชัดเจนว่าบ่อขยะของกำนันตำบลวังน้ำคู้ ไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล หรือ อบต.ที่จ่ายเงินเป็นค่าทิ้งขยะน่าจะผิดด้วย ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) น่าเรียกเงินคืนได้

นายนรินทร์ วัฒนกุลชัย นายก อบต.อรัญญิก อ.เมือง กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารตำบลซึ่งอยู่รอบตัวเมืองพิษณุโลก มีประชากรมาก ผลที่ตามมาก็คือ ขยะ ที่ผ่านมาเคยนำไปทิ้งที่บ่อของนายประจักษ์ แบบเหมาจ่ายรายปี ปีละ 60,000 บาท ซึ่งคงบอกได้แต่เพียงว่าไม่ค่อยถูกหลักอนามัย ต่อมา ปีงบประมาณ 2556 เจ้าของบ่อขอเพิ่มราคาเป็น อบต.ละ 100,000 บาท ทำให้ อบต.อรัญญิก เปลี่ยนสถานที่ทิ้งขยะมาเป็นบ่อขยะบึงกอก ที่เทศบาลนครพิษณุโลกก่อสร้างไว้เพื่อกำจัดขยะแบบเชิงกล ซึ่งต้องตามหลักการกำจัดขยะ แต่ค่าทิ้งขยะก็สูงขึ้นด้วย โดยคิดเป็นตัน ตันละ 400 บาท

“ขยะของ อบต.อรัญญิก มีวันละประมาณ 15 ตัน ประเมินแล้วต้องจ่ายค่าทิ้งขยะปีละเกือบ 2 ล้านบาท ถือว่ามากกว่าบ่อขยะที่ไม่ถูกต้อง แต่หากเทียบกับค่าน้ำมันรถที่ต้องไปถึง ต.วังน้ำคู้ ถือว่าค่าใช้จ่ายพอกัน เพราะแต่ละปีลดค่าน้ำมันได้กว่า 7 แสนบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ที่สำคัญคือ ผู้บริหาร อบต.ต้องคิดถึงสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่ดี หากใช้ของราคาถูกแล้วผิดกฎหมายก็ไม่ควรทำอย่างยิ่ง”

นายนรินทร์ กล่าวว่า ปัญหาขยะนั้นมีวิธีการแก้ไขคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ต้องบังคับใช้กฎหมายกับบ่อขยะที่ไม่ถูกต้อง การจะไปบังคับ อบต.ไม่ให้นำไปทิ้งคงทำไม่ได้ เพราะบางแห่งไม่มีรายได้ จึงต้องใช้วีธีลดต้นทุน คือ แอบไปทิ้งเพราะไม่มีทางเลือก
กำลังโหลดความคิดเห็น