ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ภาคประชาชนเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงานจังหวัดขอนแก่น ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีค้านขึ้นราคาก๊าชแอลพีจีภาคประชาชน ชี้ไม่เป็นธรรม ขณะที่ภาคปิโตรเคมีกลับไม่ขึ้นราคา ลั่นหากไม่ตอบสนองพร้อมกำหนดมาตรการกดดันขั้นต่อไป
วันนี้ (26 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ตัวแทนเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน จังหวัดขอนแก่น นำโดย นพ.เฉลิมชัย อภิญญานุรักษ์ เข้ายื่นหนังสือเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อคัดค้านการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ต้นปี 2556 เนื่องจากส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง ประชาชนทุกสาขาอาชีพจะได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่ปัจจุบันค่าครองชีพปัจจุบันก็สูงอยู่แล้ว โดยนายเสน่ห์ จันทะโชติ ปลัดจังหวัดรับหนังสือแทน
นายธรรมรัตน์ เสงี่ยมศรี ตัวแทนเครือข่ายกล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีเฉพาะภาคครัวเรือนและขนส่งนั้นไม่เป็นธรรม ทำให้ได้รับความเดือดร้อน ขณะที่กลุ่มผู้ใช้รายใหญ่ คือ กลุ่มปิโตรเคมี ที่ใช้แอลพีจีราคาต่ำเพียง 16.20 บาทต่อกิโลกรัม และมีสัดส่วนถึง 36% กลับไม่ปรับขึ้นราคา เท่ากับรัฐบาลมุ่งเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจปิโตรเคมี ขณะที่ผู้บริโภครายย่อยต้องแบกรับภาระ อีกทั้งปัจจุบันต้นทุนการผลิตก๊าซในประเทศบวกกำไรของผู้ผลิต มีต้นทุนเพียงกิโลกรัมละ 9 บาท ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด
“การปรับขึ้นราคาดังกล่าวทำให้ราคาก๊าซหุงต้มแพงขึ้นจากกิโลกรัมละ 18.13 บาท เป็น 24.82 บาท ภายใน 2 ปีราคาก๊าซบรรจุถังที่ใช้ในครัวเรือนขนาด 15 กิโลกรัม จะปรับเพิ่มจากถังละ 300 บาท เป็น 500 บาท รวมทั้งก๊าซที่ใช้ในรถยนต์จะปรับเป็นลิตรละ 19.34 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 67% จากราคาปัจจุบันที่ลิตรละ 11.56 บาท”
ทั้งนี้ ในหนังสือเปิดผนึกระบุว่า จากการที่กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนและภาคขนส่งปี 2556 ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง แม้จะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบของผู้มีรายได้น้อย 4 ล้านครัวเรือน ร้านอาหาร หาบเร่ แผงลอยอีกกว่า 3 แสนราย แต่คาดว่าภาครัฐต้องใช้เงินถึง 1 หมื่นล้านบาท เพื่อป้องกันการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ และประชาชนโดยส่วนรวม
ในนามของเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงานจังหวัดขอนแก่น ขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาดำเนินการดังนี้ คือ 1. รัฐบาลควรหยุดนโยบายปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีกับภาคครัวเรือนและขนส่ง เนื่องจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยเป็นระบบสัมปทานที่รัฐได้รับผลประโยชน์ตอบแทนต่ำที่สุดในโลก ทำให้ผู้รับสัมปทานมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เช่น แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ พื้นที่ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.นครสวรรค์ และจ.อุตรดิตถ์ มีต้นทุนการผลิตแอลพีจีบวกกำไรของผู้รับสัมปทาน อยู่ประมาณ 9 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่ราคาขายปลีกภาคครัวเรือนและขนส่ง รวมกำไรของผู้ค้าและภาษีแล้ว ปัจจุบันอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม และ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ จึงเป็นราคาที่ผู้ค้าได้กำไรมากอยู่แล้ว
2. ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ รัฐบาลควรจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้ก่อน เพราะเป็นผลผลิตจากแผ่นดินไทย จึงถือว่าเป็นทรัพยากรของประชาชน ทั้งนี้ในปี 2554 โรงแยกก๊าซมีกำลังการผลิตแอลพีจี 3.60 ล้านตัน ขณะที่ภาคประชาชนใช้ 3.57 ล้านตัน และปี 2555 คาดว่าจะผลิตได้ 3.88 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ของภาคประชาชนอยู่แล้ว แอลพีจีส่วนที่เหลือให้จำหน่ายแก่ภาคอุตสาหกรรม หากไม่เพียงพอให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้รับภาระในการนำเข้าเอง
3. ให้เลิกนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนการใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบของธุรกิจปิโตรเคมี ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกประมาณร้อยละ 40 เพราะการกระทำดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันตั้งแต่แรกเริ่ม เนื่องจากมีขึ้นเพื่อรักษาระดับราคาพลังงาน ไม่ใช่เพื่อไปอุดหนุนราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะ จึงไม่เป็นธรรมต่ออุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้รับการอุดหนุน และยังเป็นการเอาเปรียบประชาชนผู้เป็นเจ้าของกองทุนน้ำมันด้วย
4. หนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปัจจุบันติดลบอยู่ประมาณ 17,000 ล้านบาท เกิดจากการนำเงินกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนธุรกิจปิโตรเคมี ดังนั้น แทนที่รัฐบาลจะปรับขึ้นราคาแอลพีจีกภาคครัวเรือนและขนส่งปีละ 3-6 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลควรสั่งให้ปิโตรเคมีที่ใช้แอลพีจีอย่างน้อยปีละ 2,400 ล้านกิโลกรัม จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันอย่างน้อยกิโลกรัมละ 7 บาท เหมือนที่สั่งเก็บจากโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งจะได้เงินถึงปีละ 16,800 ล้านบาท ทำให้หนี้กองทุนน้ำมันหมดไปภายใน 1 ปี และเพื่อความเป็นธรรมกับประชาชน รัฐบาลควรสั่งให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่งคืนเงินที่ได้รับชดเชยส่วนต่างราคาแอลพีจีนำเข้าไปแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท ให้แก่กองทุนน้ำมันโดยเร็วด้วย
5. ให้มีคำสั่งห้ามมิให้ปลัดกระทรวงพลังงาน และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการพลังงานเป็นกรรมการในธุรกิจพลังงานทั้งหมด เนื่องจากการรับเงินเดือน โบนัส และเบี้ยประชุมจากบริษัทพลังงาน ซึ่งเป็นการกระทำที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และผิดหลักธรรมาภิบาลสากลอย่างร้ายแรง
ดังนั้น หากกระทรวงพลังงานต้องการขึ้นราคาก๊าซ ซึ่งอ้างราคาตลาดโลก ทั้งที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศเพียง 22% ของกำลังการผลิตในประเทศ ก็ให้ไปขึ้นราคากับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพราะเป็นภาคธุรกิจที่ใช้ก๊าซธรรมชาติไปหากำไร ไม่ควรมาขึ้นราคากับผู้บริโภครายย่อย เครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทบทวนการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตามรายชื่อเบื้องต้นที่แนบมานี้ ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวหากไม่ได้รับการตอบสนองหรือหาวิธีแก้ไข เครือข่ายจะได้กำหนดมาตรการที่สมควรต่อไป
ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซแอลพีจี 1 กิโลกรัมเท่ากับ 1.85 ลิตร