xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาชนอุดรฯ สุดทน ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ห้ามปรับขึ้นราคาแอลพีจี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายดนุช ตันเทิดทิตย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงานจังหวัดอุดรธานี พร้อมประชาชนจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางเข้ายืนหนังสือ เรื่อง ขอให้รัฐบาลหยุดนโยบายปรับขึ้นราคาแอลพีจี ถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสาโรจ แสงอรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
อุดรธานี - เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงานจังหวัดอุดรธานี ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ค้านการขึ้นราคา LPG เผยส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง จี้สั่งให้ ปตท.ส่งคืนเงินที่ได้รับชดเชยส่วนต่างราคาแอลพีจีร่วมหนึ่งแสนล้านบาทให้แก่กองทุนน้ำมันฯ

วันนี้ (20 ธ.ค.) เวลาประมาณ 10.30 น. นายดนุช ตันเทิดทิตย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงานจังหวัดอุดรธานี พร้อมประชาชนจำนวนหนึ่งได้เดินทางเข้ายืนหนังสือ เรื่อง ขอให้รัฐบาลหยุดนโยบายปรับขึ้นราคาแอลพีจี ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสาโรจ แสงอรุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี

โดยข้อความร้องเรียนในหนังสือระบุว่า จากการที่กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) กับภาคครัวเรือนและภาคขนส่งในปี 2556 ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง แม้จะมีมาตรการในการบรรเทาผลกระทบของผู้มีรายได้น้อยจำนวน 4 ล้านครัวเรือน และร้านอาหาร หาบเร่แผงลอยอีกกว่า 3 แสนราย แต่คาดว่าภาครัฐต้องใช้งบประมาณถึง 1 หมื่นล้านบาท เพื่อป้องกันการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ และประชาชนโดยส่วนรวม

ในนามของเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน จังหวัดอุดรธานี ขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาดำเนินการดังนี้

1. รัฐบาลควรหยุดนโยบายปรับขึ้นราคาแอลพีจีกับภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์เนื่องจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยเป็นระบบสัมปทานที่รัฐได้รับผลประโยชน์ตอบแทนต่ำที่สุดในอาเซียน ทำให้ผู้รับสัมปทานมีต้นทุนการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมถึงก๊าซแอลพีจีที่ต่ำ เช่น แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ อันเป็นแหล่งใหญ่มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 5 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์ มีต้นทุนการผลิตแอลพีจีบวกกำไรของผู้รับสัมปทานอยู่ประมาณ 9 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

ขณะที่ราคาค้าปลีกแอลพีจีที่จำหน่ายให้แก่ภาคครัวเรือน และภาคยานยนต์ ซึ่งรวมกำไรของผู้ค้าและภาษีแล้วในปัจจุบันอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม และ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ จึงเป็นราคาที่ผู้ค้าได้กำไรมากอยู่แล้ว

2. ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ รัฐบาลควรจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้ก่อนทั้งภาคครัวเรือนและยานยนต์ เพราะก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแอลพีจีมาจากแผ่นดินไทยถือเป็นทรัพยากรของประชาชน ทั้งนี้ ในปี 2554 โรงแยกก๊าซฯ มีกำลังการผลิตก๊าซแอลพีจีได้ 3.60 ล้านตัน ขณะที่ภาคประชาชนใช้ 3.57 ล้านตัน และในปี 2555 คาดว่าจะผลิตได้ 3.88 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ของภาคประชาชนอยู่แล้ว

แอลพีจีส่วนที่เหลือจากการใช้ของภาคประชาชนให้จำหน่ายแก่ภาคอุตสาหกรรมได้ หากไม่เพียงพอให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้รับภาระในการนำเข้าเอง

3. ให้เลิกนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนการใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบของธุรกิจปิโตรเคมี ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกประมาณร้อยละ 40 การนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนให้ภาคปิโตรเคมีดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ ตั้งแต่แรกเริ่ม ที่มีขึ้นเพื่อรักษาระดับราคาพลังงาน มิใช่เพื่อไปอุดหนุนราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะ

จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่ออุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้รับการอุดหนุน และยังเป็นการเอาเปรียบประชาชนผู้เป็นเจ้าของกองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย

4. หนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันติดลบอยู่ประมาณ 17,000 ล้านบาทในปัจจุบัน เกิดจากการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนธุรกิจปิโตรเคมี ดังนั้น แทนที่รัฐบาลจะปรับขึ้นราคาแอลพีจีกับภาคขนส่งและภาคครัวเรือนปีละ 3-6 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลควรสั่งให้ปิโตรเคมีที่ใช้แอลพีจีอย่างน้อยปีละ 2,400 ล้านกิโลกรัม จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันอย่างน้อยกิโลกรัมละ 7 บาทเหมือนที่สั่งเก็บจากโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ จะได้เงินถึงปีละ 16,800 ล้านบาท ทำให้หนี้กองทุนน้ำมันฯ จะหมดไปภายใน 1 ปี

และเพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชน รัฐบาลควรสั่งให้ ปตท.ส่งคืนเงินที่ได้รับชดเชยส่วนต่างราคาแอลพีจีนำเข้าไปแล้วประมาณหนึ่งแสนล้านบาทให้แก่กองทุนน้ำมันฯ โดยเร็วด้วย

5. ให้มีคำสั่งห้ามมิให้ปลัดกระทรวงพลังงานและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการพลังงานเป็นกรรมการในธุรกิจพลังงานทั้งหมด เนื่องจากการรับเงินเดือน โบนัส และเบี้ยประชุมจากบริษัทพลังงานของข้าราชการเหล่านี้เป็นการกระทำที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นการกระทำที่ผิดหลักธรรมาภิบาลสากลอย่างร้ายแรง

นายดนุช ตันเทิดทิตย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงานจังหวัดอุดรธานี กล่าวย้ำว่า การขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีจะเกิดผลกระทบทั้งระบบ ซึ่งเหตุผลที่ทางรัฐบาลนำมาแก้ต่างก็คือ รัฐบาลต้องนำเข้าก๊าซ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูการผลิตแล้วพบว่า ในปี 2554 โรงแยกก๊าซฯ ผลิตก๊าซแอลพีจีได้ 3.60 ล้านตัน ขณะที่ประชาชนใช้ก๊าซเพียง 3.57 ล้านตัน ส่วนในปี 2555 คาดว่าจะผลิตเพิ่มมากขึ้นถึง 3.88 ล้านตัน

ซึ่งเมื่อมองตัวเลขการผลิตแล้วก็ทราบว่าก๊าซเพียงพอต่อการใช้ของภาคประชาชน การที่รัฐบาลใช้ข้ออ้างว่าปริมาณก๊าซไม่เพียงพอนั้นก็เพราะว่ากลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี กลุ่มอุตสาหกรรมมีการนำก๊าซไปใช้ และใช้ในปริมารที่มาก และถูกกว่าราคาขายที่กำหนด เราจึงมองว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อประชาชนน้อยไป

นายดนุชระบุเพิ่มเติมว่า จากนี้ต่อไปทางเครือข่ายจะได้ออกรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน โดยจะติดป้ายรณรงค์ทั่วเมืองอุดรธานี และในวันที่ 25 มกราคม 2556 จะมีการเชิญวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน

ด้าน น.ส.สุภาพร คำทองสุข แม่ค้าขายขนมเบื้อง เปิดเผยว่า ราคาก๊าซที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็มีราคาที่แพงอยู่แล้ว หากมีการขึ้นราคาเพิ่มขึ้นอีกตนก็ไม่เห็นด้วย เพราะตนก็ขายขนมในราคาที่ถูกอยู่แล้วและขายก็ไม่ค่อยจะดี หากจะปรับราคาขายขนมเพิ่มขึ้นตามต้นทุนแล้วก็กลัวจะไม่มีคนมาซื้อ จึงอยากจะขอฝากให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบนี้ทบทวนการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีดังกล่าวด้วย

แม่ค้าขนมเบื้องโอดครวญไม่อยากให้ขึ้นราคาก๊าชเพราะทุกวันนี้แบกต้นทุนสูงอยู่แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น