กาญจนบุรี - รมต.ประจำสำนักนายกฯ มอบนโยบายการดำเนินงานแก่ผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์
วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่โรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดจัดการประชุมผู้บริหารส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคเพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ กรมประชาสัมพันธ์ โดยมีนายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายธีระพงษ์ โสดาศรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ มีผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัด ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการส่วนแผนงานและพัฒนางานประชาสัมพันธ์ และผู้อำนวยการส่วนข่าวและรายการภูมิภาค สังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1-8 กว่า 230 คนเข้าร่วมประชุม
นายธีระพงษ์ โสดาศรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์มีบทบาทในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประชาสัมพันธ์ภาครัฐ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์นโยบายและแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้รับทราบ และเข้าใจ รวมถึงการทำหน้าที่ติดตามรับฟังกระแสความต้องการของประชาชนในการสะท้อนสู่ภาครัฐและรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างรวดเร็วและสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการปรับวิสัยทัศน์ใหม่ คือ “องค์การหลักที่เป็นเลิศ ด้านการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารมวลชนแบบมืออาชีพแห่งอาเซียน” เพื่อการพัฒนา การรักษาความมั่นคง วัฒนธรรม และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ”เพื่อให้สอดรับกับบทบาทและสถานการณ์ปัจจุบัน
กรมประชาสัมพันธ์ จึงได้จัดการประชุมผู้บริหารส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์กรมประชาสัมพันธ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติงานได้ตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ และแผนงานโครงการของกรมประชาสัมพันธ์ ได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งเพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการแก้ไขปัญหาของ สำนัก กอง ให้สามารถพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะความพร้อมในการประชาสัมพันธ์นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ดำเนินการในปีแรก 16 โครงการ และโครงการทั่วไปที่ได้แถลงต่อรัฐสภา
รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤตด้านต่างๆ เช่น ภัยแล้ง ภัยหนาว และการชุมนุมประท้วง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมการเพื่อรองรับประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เรื่องการเปลี่ยนระบบการส่งโทรทัศน์จากระบบอะแนล็อกเป็นระบบดิจิตอล การขอคืนคลื่นความถี่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จำนวน 147 ความถี่ และคลื่นความถี่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จำนวน 50 ความถี่ และการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ภาษามลายูถิ่นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง
จากนั้น น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการปฏิบัติราชการให้แก่ผู้บริหารของกรมประชาสัมพันธ์ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคว่า ขอให้มีการดำเนินการในการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์สนับสนุนนโยบายรัฐบาล และนโยบายต่างๆ ที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ให้มีการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแผลงการส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดิน จากระบบอะแนล็อกเป็นระบบดิจิตอล
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาปรับปรุงรายการและการนำเสนอให้น่าสนใจโดยเฉพาะในช่วงเวลา Prime Time ทั้งด้านข่าวสาร สารคดี เรื่องน่ารู้ โดยให้คำนึงถึงผู้ชมเป็นหลัก ส่วนในการประชาสัมพันธ์เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขอให้เลือกใช้สื่อให้เหมาะสม ชัดเจน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการผลิต และเผยแพร่รายการ เป็นภาษามลายูถิ่นทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา ให้มีการนำเสนอเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ทั่วถึง และให้มีการใช้สื่ออย่างหลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกกลุ่ม
ได้แก่ New Media, Internet สื่อบุคคล คือ อาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้าน (อปม.) ทั้งนี้ ได้มีการประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติในการขอรับจัดสรรคลื่นความถี่ให้กรมประชาสัมพันธ์มากที่สุด มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมดำเนินงานสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้รับชม และรับฟังจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และในการดำเนินการประชาสัมพันธ์ขอให้คำนึงถึงความรัก ความสามัคคีของประชาชนในชาติ และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“กรมประชาสัมพันธ์มีภารกิจ และความท้าทายที่จะต้องปฏิบัติ จึงมีความเชื่อมั่นว่ามีศักยภาพที่จะสามารถปฏิบัติได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี”