xs
xsm
sm
md
lg

หออีสานชี้ค่าแรง 300 บาทกระทบหนัก-รง.โคราชชิงปิดหนีลอยแพอีก 600 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ รองประธานหอการค้าภาคอีสาน
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รองประธานหอการค้าอีสานชี้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ 1 ม.ค. 56 กระทบภาคอุตสาหกรรมหนัก คาดปิดตัวอื้อ โดยเฉพาะ SMEs ไม่เจ๊งก็ไม่โต ระบุโรงงานโคราชหลายแห่งเริ่มปิดกิจการหนีลอยแพลูกจ้าง แนะรัฐบาลคิดให้รอบด้าน และเร่งหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก เผยล่าสุดบริษัท โคราชเดนกิ แจ้งชิงปิดรง.ลอยแพพนักงานส่งท้ายปีก่อนถึงดีเดย์ 1 ม.ค. 56 อีกกว่า 600 ชีวิต

วันนี้ (22 พ.ย.) นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ รองประธานหอการค้าภาคอีสานและที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ตามนโยบายของรัฐบาลว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าภาคอุตสาหกรรมมีการจ้างงานในระดับค่าแรงขั้นต่ำที่สูงมาก และหากค่าแรงขั้นต่ำมาปรับขึ้นในเวลานี้อีกอาจทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตได้ เช่นเร็วๆ นี้โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังที่ อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา ได้ปิดกิจการเลิกจ้างพนักงานไปจำนวนมากเพราะผลกระทบจากค่าแรง 300 บาทที่ผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นต้นทุนที่สูงเกินกว่าจะแบกรับภาระไหว ซึ่งกำลังเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นกับกิจการอีกหลายแห่งใน จ.นครราชสีมา

ฉะนั้นวันนี้จึงน่าวิตกกังวลว่าการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทโดยไม่ได้เตรียมการมาก่อนจะส่งผลทำให้กิจการหลายแห่งปิดตัวลงได้ เพราะประเทศเรามีสถานประกอบการที่จ้างแรงงานระดับบนหรือจ้างสูงจำนวนน้อยมากไม่ถึง 10% แต่ที่จ้างระดับกลางมี 40-50% กลุ่มนี้อาจต้องปรับตัว แต่ระดับล่างน่าจะมี 50% ขึ้นไป กลุ่มนี้ถามว่าจะสู้ไหวหรือไม่ เมื่อสู้ไม่ไหวอาจจะต้องเลิกกิจการ หรือปรับลดคนงานลง ฉะนั้นกลายเป็นว่าต่างคนต่างไม่ได้ประโยชน์ บางคนที่มีเงินเดือนอยู่แล้วอาจพอใจอยู่ที่วันละ 200 กว่าบาท แต่หากผู้ประกอบการต้องปิดกิจการเพราะทนแบกรับภาระไม่ไหวเขาก็จะไม่มีงานทำเลย

“การคิดต้องคิดให้ครบรอบด้าน การปรับขึ้นค่าแรงให้ผู้ใช้แรงงานเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะวันนี้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าวแล้ว เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงว่าประเด็นค่าแรง 300 บาทที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2556 จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะชี้ชะตาอุตสาหกรรมไทย เพราะหากอุตสาหกรรมมีการเลิกจ้างปัญหาต่างๆ ก็จะตามมา” นายทวิสันต์กล่าว

นายทวิสันต์กล่าวอีกว่า จังหวัดนครราชสีมา เฉพาะ อ.สูงเนินมีโรงงาน บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ มีเขตอุตสาหกรรมนวนครเป็นที่ตั้งของโรงงานหลายแห่ง มีแรงงานรวมกันอยู่ในระบบประมาณ 4-5 หมื่นคน ทั้งที่เป็นอำเภอขนาดเล็กแต่มีคนเข้าไปอยู่มาก เมื่อมีคนมากก็ทำให้เกิดการค้าขาย เศรษฐกิจดี มีการสร้างหอพัก มีรถโดยสาร หากโรงงานปิดกิจการไปแน่นอนต้องมีคนตกงาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็จะต้องปิดตัวเองตามไปด้วย

“ที่สำคัญปัญหาค่าแรง 300 บาทจะทำให้ธุรกิจ SMEs ได้รับผลกระเทือนมากที่สุด หากกิจการไม่ล้มก็คงไม่มีการขยายกิจการเพราะสู้ต้นทุนค่าแรงงานไม่ไหว ฉะนั้นธุรกิจ SMEs จะลำบากเกือบทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้หากคิดไม่รอบด้าน ฝืนดำเนินนโยบายนี้ต่อไปก็จะได้รับผลกระทบแน่นอน” นายทวิสันต์กล่าว

ส่วนทางออกของการแก้ไขปัญหานี้รัฐบาลควรทำอย่างไร นายทวิสันต์กล่าวว่า หากชะลอไม่ได้ก็ต้องมีมาตรการบางอย่างมาชดเชยให้ผู้ประกอบการ อย่างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เช่น OTOP บางแห่งมีพนักงาน 100 คน จ้างคนละ 100-200 บาท มาเจอกับมาตรการค่าแรง 300 บาทต้นทุนเพิ่มสูงอย่างมาก ลูกจ้างที่รู้ข่าวก็ออกเรียกร้องให้ได้ตามที่รัฐประกาศ แค่นี้ก็เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกันแล้ว ฉะนั้นรัฐบาลทำอะไรจะต้องมีการพูดคุยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

ด้าน นายสมทรง รักษาผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงเรื่องเดียวกันว่า เรื่องนี้ได้มีการหารือกันในที่ประชุมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้ส่งตัวแทนเข้ามาชี้แจงในเรื่องนี้ไปแล้วบางส่วน มาถึงวันนี้คงยับยั้งอะไรไม่ได้แล้ว ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศวันละ 300 บาทส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างแน่นอนโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs รัฐบาลควรหาแนวทางในการช่วยเหลือธุรกิจเหล่านี้เพื่อให้อยู่ได้ ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการคงต้องอยู่อย่างลำบาก

ทั้งนี้ เนื่องจากค่าแรงเป็นค่าใช้จ่ายประจำ และส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หรือทำให้กำไรหดหายไป มาถึงวันนี้ก็คงต้องกัดฟันสู้กันต่อไป ตอนนี้ผู้ประกอบการเองพยายามหาแนวทางช่วยเหลือตัวเอง เช่น ต้นทุนส่วนต่างๆ ก็ต้องปรับลดลง ไฟต้องประหยัด และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น

สำหรับสถานประกอบการขนาดเล็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เนื่องจากมีทุนน้อยก็คงต้องปิดตัวเองลงไป ซึ่งจังหวัดนครราชสีมามีสถานประกอบการอยู่กว่า 2,000 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น SMEs ผู้ประกอบการรายใหญ่คงมีไม่กี่ร้อยรายเท่านั้นที่จะยืนหยัดอยู่ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาได้แจ้งให้สมาชิกทราบและให้ทุกคนเตรียมตัวรับนโยบายดังกล่าวที่จะบังคับใช้พร้อมกันในวันที่ 1 ม.ค. 56 แล้ว และหากผู้ประกอบการรายใดประสบปัญหาสามารถแจ้งมายังสภาอุตฯ เพื่อจะได้รวบรวมส่งไปยังรัฐบาลเพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป

“การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ส่วนตัวมองว่าพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาลเคยประกาศและตั้งธงเอาไว้แล้ว หากชั่งน้ำหนักคะแนนเสียงระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ใช้แรงงาน เสียงของแรงงานน่าจะมากกว่า ผลจึงออกมาแบบนี้” นายสมทรงกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ล่าสุดทางบริษัท โคราชเดนกิ จำกัด โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป ทั้งทีวี วิดีโอ ดีวีดี และผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งดำเนินกิจการมากว่าสิบปี ได้แจ้งผู้บริหาร พนักงานลูกจ้างประจำทุกคน รวมกว่า 600 คนว่า ทางบริษัทจะปิดกิจการโรงงานสาขาดังกล่าว พร้อมเลิกจ้างพนักงานทุกคนเป็นล็อตสุดท้ายในวันที่ 28 ธ.ค.นี้ และจะจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานตามกฎหมายกำหนด โดยให้เหตุผลเพียงสั้นๆ ว่า เนื่องจากบริษัทไม่มีออเดอร์เข้ามาจึงไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางโรงงานได้ทยอยลดคนงานในส่วนของซัปพลายเออร์ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น