เชียงราย - ท่าเรือเชียงแสน 2 มูลค่ากว่า 1.5 พันล้านป่วน เอกชนเมินล่องเรือสินค้าเข้าเทียบท่าหลังเจอปัญหาน้ำโขงแห้ง-ต้นทุนเพิ่ม-ถนนเชื่อมต่อไม่รองรับ แถมไร้สิ่งอำนวยความสะดวกลูกเรือ ฯลฯ จนยอมจ่ายค่าปรับลำละ 3 พันแลกเข้าเทียบท่าเอกชนกันเป็นแถว ล่าสุด กมธ.จีเอ็มเอสยกคณะเข้าตรวจสอบ
วันนี้ (19 พ.ย.) นายสมคิด บาลไธสง ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการชายแดน (อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง : GMS) สภาผู้แทนราษฎร ได้นำคณะเดินทางไปตรวจสอบการดำเนินการของท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 บนเนื้อที่ประมาณ 387 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา ติดชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่กระทรวงคมนาคมใช้งบประมาณ 1,546.4 ล้านบาท ก่อสร้างและเปิดใช้งานได้ทันตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 ที่ผ่านมา โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการท่าเรือเข้าร่วม
ดร.กิตติรัตน์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ในฐานะเลขานุการคณะฯ ได้แจ้งสาเหตุการตรวจสอบว่าเกิดจากการได้รับแจ้งว่าท่าเรือประสบปัญหาเรือสินค้าไม่ยอมเข้าใช้บริการ และยังจะมีการเปิดจุดผ่านแดนถาวรเชียงแสนแห่งที่ 2 ขึ้นที่สามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง อ.เชียงแสน เพิ่มอีกแห่งหนึ่งด้วย รวมทั้งต้องการทราบการดำเนินการของชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงของด้วย
นายวีระ จินนิกร ผู้จัดการท่าเรือเชียงแสน กล่าวว่า ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 สร้างขึ้นเพื่อรองรับสินค้าชายแดนที่เพิ่มมากขึ้นได้ถึง 6 ล้านตันต่อปี รองรับเรือสินค้าขนาด 500 ตันได้ครั้งละ 10 ลำ ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว และมีหน่วยงานเข้าไปประจำทั้ง 9 หน่วย และจะเพิ่มเป็น 10 หน่วยคือสรรพสามิต เพื่อรองรับสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในเร็วๆ นี้
สภาพปัจจุบันยังมีเรือสินค้าไปใช้บริการ โดยเฉพาะไก่แช่แข็งที่ส่งออกวันละกว่า 20-30 ตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับกรณีที่ระบุว่าเรือสินค้าไม่ไปใช้บริการที่ท่าเรือทั้งหมดนั้นพบว่าเกิดจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงในปัจจุบันลึกประมาณ 2.50 เมตร เรือสินค้าจีนกินน้ำลึกตั้งแต่ 1.80 เมตร และในฤดูแล้งนี้คาดว่าระดับน้ำก็คงจะลดลงอีกตามปกติทุกปี โดยคาดว่าสภาพน้ำโขงลึกพอแล่นเรือได้ต่อไปอีกราว 2 เดือนก่อนจะแห้งกว่านี้
ดังนั้น จึงทำให้เรือไปใช้บริการเทียบท่าเรือห้าเชียง ซึ่งเป็นของเอกชนที่บ้านสบรวก สามเหลี่ยมทองคำแทน รวมทั้งมีอุปสรรคถนน 4 ช่องจราจร ระยะทาง 14.550 กิโลเมตรที่จะเชื่อมท่าเรือ-อ.เมืองเชียงราย มูลค่า 809.580 ล้านบาท ยังไม่แล้วเสร็จ ที่มีกำหนดก่อสร้างตั้งแต่ 22 ก.ย. 2554-9 มี.ค. 2557 ด้วย แต่ถ้าเสร็จจะย่นระยะทางได้กว่า 30 กิโลเมตร ทำให้ปัจจุบันท่าเรือต้องกำหนดมาตรการจูงใจด้วยการพยายามหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้เรือสินค้ามากขึ้น และลดราคา 50% เป็นเวลา 3 เดือนด้วย
ด้านนางเกศสุดา สังขกร รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ฝ่ายการค้าชายแดน อ.เชียงแสน กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการค้าไม่ไปใช้บริการท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 มากและหันไปใช้ท่าเรือเอกชนที่สามเหลี่ยมทองคำเพราะต้นทุนสูงกว่า โดยต้องเดินทางไกลจากท่าเรือแห่งที่ 1 ในปัจจุบันถึง 6 กิโลเมตร เสียค่าใช้จ่ายเที่ยวละนับหมื่นบาท
ทั้งนี้ เมื่อตอนเปิดใช้ท่าเรือเชียงแสน 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการถูกบีบให้ไปใช้บริการ แต่ปรากฏว่าสะพานข้ามลำน้ำคำที่เชื่อมไปยังท่าเรือพังเสียหาย ต้องหันไปใช้เส้นทางอ้อมก็ผ่านถนนในหมู่บ้านทำให้ถนนพังเสียหาย เมื่อจะกลับไปใช้ท่าเรือแห่งเดิมก็ถูกปิดการใช้งานเสียแล้ว จึงจำเป็นต้องไปใช้บริการจอดนอกท่าเรือ โดยเสียค่าปรับเรือลำละ 3,000 บาท ซึ่งก็เดือดร้อนหนักเพราะถ้าเป็นเรือสินค้าจีนขนาดใหญ่ก็คงคุ้มค่า แต่ถ้าเป็นเรือ สปป.ลาวที่ใช้ขนไก่แช่แข็งกันเป็นจำนวนมากคงไม่คุ้มค่า เพราะระวางบรรทุกมีน้อย นอกจากนี้ ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ไม่มีสถานที่รองรับลูกเรือ เช่น สินค้า อาหาร ที่พักผ่อน ฯลฯ
นางเกศสุดากล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญอีกประการคือ ร่องน้ำในแม่น้ำโขงบางจุดตื้นเขิน และไม่ชัดเจนเป็นไปตามทรายที่ถูกน้ำพัดพา ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 55 ที่ผ่านมามีเรือสินค้าเกยตื้นร่องน้ำที่ป่าแลว ชายแดนพม่า-สปป.ลาว ถึง 5 ลำ ขณะที่เส้นทางจากท่าเรือ 1 ถึงท่าเรือ 2 ก็มีความตื้นเขินในบางจุดเช่นกัน จึงเสนอให้มีการร่วมมือกับจีนที่ดูแลเขื่อนด้านบนให้เปิด-ปิดน้ำให้เหมาะสม และขุดลอกให้เดินเรือได้สะดวก รวมทั้งปรับปรุงถนนเชื่อมท่าเรือให้รองรับรถบรรทุกได้ 50 ตันมากกว่าสภาพในปัจจุบันที่รองรับได้เพียง 15 ตัน
ขณะที่นายพัชระ สินสวัสดิ์ รองเลขานุการคณะฯ ซึ่งเป็นอดีตนายด่านศุลกากรเชียงแสน กล่าวว่า ท่าเรือแห่งที่ 2 เกิดจากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นควรขยายจากท่าเรือแห่งที่ 1 ซึ่งแออัดอยู่กลางตัวเมืองเชียงแสน ดังนั้นจึงไปสร้างแห่งที่ 2 แต่ปรากฏว่าช่วงที่ผลักดันให้เรือสินค้าไปใช้บริการและปิดท่าเรือแห่งที่ 1 เพื่อพัฒนาเป็นท่าเรือท่องเที่ยวกลับมีเอกชนเปิดท่าเรือเพิ่มมากขึ้นถึง 6-7 แห่ง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเมื่อมีปัญหาแห่งที่ 2 ก็หันมาใช้ท่าเรือแห่งที่ 1 แทนชั่วคราวก่อนได้ เมื่อระดับน้ำดีในฤดูน้ำหลากก็ค่อยให้ไปใช้ท่าเรือแห่งที่ 2 เป็นหลักตามเดิม
ขณะเดียวกัน ตนไม่เห็นด้วยที่จะให้ไปเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่สามเหลี่ยมทองคำ แต่ควรจะเปิดท่าเรือแห่งที่ 1 แทน เพราะมีอาคารสำนักงานและท่าเรือโป๊ะถึง 2 โป๊ะ สามารถรองรับทั้งสินค้าและคนได้
ส่วนสาเหตุที่ระบุว่ามีด่านถาวรของ สปป.ลาวไปตั้งอยู่ที่สามเหลี่ยมทองคำนั้น ตนเห็นว่าเราไม่ควรจะไปตามเขามากเกินไป เราควรเอาความเหมาะสมของประเทศไทยหากว่าฝั่ง สปป.ลาวเห็นความจำเป็นก็สามารถย้ายมาสร้างบริเวณตรงกันข้ามท่าเรือแห่งที่ 1 เพื่อรองรับการเข้าออกแดนได้ต่อไป
“ปัญหาปัจจุบันเกิดจากการศึกษาไม่ครบถ้วนและไม่มองประสิทธิภาพการใช้งาน ทำให้เกิดการเปิดให้เรือสินค้าไปจอดนอกท่า ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย ถึงได้มีการปรับครั้งละ 3,000 บาท แต่ถ้าเปิดให้ใช้ท่าเรือแห่งที่ 1 ไปก่อนปัญหาก็จบ และยังดำเนินการตามความจำเป็นของมติคณะรัฐมนตรีในอดีตด้วย ส่วนระยะยาวก็คงเป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่าที่จะต้องประสานกับคณะทำงานลุ่มน้ำโขง หรือ JCCCN (The Joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong River) เพื่อขุดลอกร่องน้ำโขงเพื่อให้ความลึกของน้ำอยู่ที่ 2-3 เมตรตลอดปี” นายพัชระกล่าว
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า จากนั้นที่ปรึกษาของคณะฯ ได้สอบถามสาเหตุและความจำเป็นในการก่อสร้างท่าเรือแห่งที่ 2 จากกรมเจ้าท่า ทำให้เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าอธิบายว่า เกิดจากการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเคยศึกษาพื้นที่ก่อสร้างที่เหมาะสม 5 จุด และได้เลือกที่บ้านสบกกดังกล่าวเพราะไม่มีปัญหาการถือครองที่ดินและมีความกว้างขวางเหมาะสมที่สุด
จากนั้น ดร.กิตติรัตน์สรุปการประชุมว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการก่อสร้างและมอบพื้นที่ให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยดูแลอย่างจำกัด ส่งผลให้ภาคเอกชนเดือดร้อน หน่วยงานต่างๆ ก็ต่างฝ่ายต่างทำไม่ได้บูรณาการกัน ดังนั้นจะกลับไปตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียดต่อไป
ด้านนายสมคิดกล่าวว่า คณะฯ จะนำข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดไปสรุปผล และเสนอปัญหา-แนวทางแก้ไขต่อรัฐบาล หรือถ้าจำเป็นจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตาม การจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างคงต้องใช้เวลา คงไม่สามารถไปคาดการณ์ได้ว่าจะแก้ไขได้เสร็จสิ้นเมื่อไหร่อย่างไร