ตรัง - ร.ฟ.ท.ทุ่มงบ 300 ล้าน ปรับปรุงระบบรางเส้นทางกันตัง-ทุ่งสง หวังฟื้นรถไฟเพื่อการขนส่งระบบตู้คอนเทนเนอร์ฝั่งอันดามันอีกครั้ง มั่นใจฉลุยเพราะวิ่งได้เร็วขึ้น และบรรทุกได้มากขึ้น
นายประพัฒน์ ไหมขาว นายสถานีรถไฟกันตัง จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานีรถไฟกันตัง ซึ่งตั้งอยู่ในเนื้อที่ 7 ไร่ บนถนนหน้าค่าย ในเขตเทศบาลเมืองกันตัง ถือเป็นสถานีรถไฟสุดทางสายใต้ฝั่งอันดามัน ที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2456 หรือเมื่อ 99 ปีที่แล้ว โดยในอดีตใช้เป็นที่รับส่งสินค้า เช่น ยางพารา ประมง หรือโบกี้รถไฟกับประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เนื่องจากเคยมีรางรถไฟวิ่งไปจนถึงท่าเทียบเรือกันตัง เมืองท่าอันสำคัญระดับโลก เพียงแต่ปัจจุบัน รางรถไฟระยะทาง 500 เมตร ที่เคยเชื่อมระหว่างจากตัวสถานีรถไฟถึงท่าเทียบเรือกันตังได้ถูกชาวบ้านรุกล้ำ และรื้อถอนออกไปหมดแล้ว ขณะที่การขนส่งสินค้าทุกชนิดที่เคยใช้ทางรถไฟก็หมดสิ้นไปตามกาลเวลา
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้อนุมัติงบประมาณ 300 ล้านบาทเศษ มาเพื่อทำการปรับเปลี่ยนหมอนรางรถไฟ จากเดิมซึ่งเป็นไม้ และผุพังได้ง่าย มาเป็นแบบคอนกรีตทั้งหมด ในช่วงระหว่างสถานีรถไฟชุมทางทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กับสถานีรถไฟกันตัง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2556 หรืออีกประมาณ 1 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้รางรถไฟมีความคงทนแข็งแรงมากยิ่งขึ้นถึงเท่าตัว จากเดิมที่รับน้ำหนักได้เพียงแค่หมอนละ 50 ปอนด์ ก็จะเพิ่มเป็น 100 ปอนด์ และสามารถทำความเร็วได้มากขึ้นถึง 3 เท่าตัว คือ จากเดิม 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 90-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง อันจะเป็นผลดีสำหรับการเดินทางด้วยรถไฟในอนาคต เนื่องจากจะใช้ระยะเวลาลดน้อยลง แต่กลับบรรทุก หรือขนส่งได้มากขึ้น
ประกอบกับทาง ร.ฟ.ท. ยังมีนโยบายที่จะจัดสร้างศูนย์รวมตู้คอนเทนเนอร์ขึ้น บริเวณพื้นที่ว่างเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ ระหว่างสถานีรถไฟชุมทางทุ่งสง กับสถานีรถไฟที่วัง เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าจากจุดต่างๆ ของภาคใต้มาลงเรือยังท่าเทียบเรือกันตัง ซึ่งหากโครงการดังกล่าวได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจริงๆ ก็จะส่งผลดีต่อจังหวัดตรังเป็นอย่างยิ่ง ทั้งการร่นระยะเวลาให้สั้นลงกว่าเดิม และการประหยัดค่าใช้จ่าย หลังจากโครงการปรับเปลี่ยนหมอนรางรถไฟใหม่ทั้งหมดได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ก็จะสอดรับต่อแผนการกลับมาใช้เส้นทางรถไฟเพื่อการขนส่งสินค้าอีกครั้ง โดยเฉพาะระหว่างสถานีรถไฟตรัง มายังสถานีรถไฟกันตัง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถรองรับหัวรถจักรเพื่อบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึงขบวนละ 30 ตู้
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานีรถไฟกันตังในปัจจุบัน ยังคงเหลือการใช้งานเฉพาะการโดยสาร วันละ 2 ขบวนเท่านั้น คือ ขบวนรถเร็วที่ 167 และ 168 กรุงเทพฯ-กันตัง-กรุงเทพฯ แต่หากได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ แล้ว นอกเหนือไปจากประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งใช้ระยะเวลาเดินทางเพียง 15 นาที และค่าโดยสารที่ถูกแค่คนละ 5 บาท รวมทั้งยังเป็นจุดที่เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังได้อย่างมากมาย แต่ก็ควรนำมาใช้ประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าอย่างเช่นในอดีตด้วย เพียงแค่ลงทุนก่อสร้างศูนย์พักสินค้าขึ้นบริเวณสถานีรถไฟซึ่งยังมีสถานที่กว้างขวาง เพื่อให้เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังท่าเทียบเรือกันตัง ที่อยู่ห่างออกไปเพียง 500 เมตร แล้วย้ายตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดจากท่าน้ำมารวมไว้เป็นจุดเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ลอจิสติกส์ด้านระบบรางกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง