xs
xsm
sm
md
lg

โคราชเร่งสูบตุนน้ำดิบประปารับมือวิกฤต-“ประทาย-พิมาย” แล้งรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โคราชภัยแล้งขยายวงกว้างต่อเนื่อง ผวาขาดน้ำผลิตประปา ปภ.เขต 5  เร่งสูบน้ำเติมอ่างฯแหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมือง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา  รับมือวิกฤตแล้ง วันนี้ (12 พ.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชภัยแล้งขยายวงกว้างต่อเนื่อง ผวาขาดน้ำผลิตประปา “ปภ.เขต 5” เร่งสูบน้ำเติมอ่างฯ แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยง “เมืองโนนไทย” รับมือวิกฤตแล้ง ขณะอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำสั่งเร่งสำรวจแหล่งน้ำทั่วอีสานเพื่อเก็บกักไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง ห่วงเกษตรกรทำนาปรังเสียหายหนัก ระบุ 2 อำเภอโคราช “ประทาย-พิมาย” แล้งรุนแรง

วันนี้ (12 พ.ย) นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 (ปภ.เขต 5) นครราชสีมา เปิดเผยว่า จากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร จ.นครราชสีมาได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ล่าสุด ปภ.เขต 5 ได้รับการประสานจาก จ.นครราชสีมาให้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ อ.โนนไทย โดยส่งเจ้าหน้าที่พร้อมรถสูบส่งน้ำระยะไกล (สามารถสูบส่งน้ำได้ในระยะทาง 3 กิโลเมตร) จำนวน 1 คัน ดำเนินการสูบน้ำจากลำน้ำสาธารณะส่งไปกักเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบ้านสระจระเข้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่เทศบาลตำบลโนนไทยใช้ผลิตประปาให้บริการแก่ประชาชนทั้งในเขตเทศบาล และนอกเขตเทศบาลตำบลโนนไทย รวม 1,481 ครอบครัว

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาอ่างเก็บน้ำบ้านสระจระเข้ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ม.13 บ้านสระจระเข้ ต.โนนไทย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ประมาณ 150,000 ลูกบาศก์เมตร จากความจุที่สามารถกักเก็บได้ 700,000 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการเตรียมการป้องกันล่วงหน้าจะเกิดปัญหาในการผลิตน้ำประปาของเทศบาลตำบลโนนไทยได้

ส่วนที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 5 กรมทรัพยากรน้ำ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่เร่งสำรวจแหล่งน้ำที่มีอยู่ และรวบรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งตามโครงการเติมน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ปีงบประมาณ 2556 ที่จะต้องมีการเติมน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอยู่อย่างต่อเนื่อง

นายนิทัศน์กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในพื้นที่ภาคอีสานคือ การทำนาปรัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังมีน้ำอยู่หลังเก็บเกี่ยวนาปีเสร็จเกษตรกรก็จะทำนาปรังทันที โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องน้ำ อาจเป็นเพราะความเคยชิน ซึ่งจะเป็นปัญหาเมื่อผลผลิตเสียหาย เพราะปีนี้ต้องยอมรับว่าเรามีต้นทุนน้ำอยู่น้อยมาก สิ่งจำเป็นที่สุดคือ ต้องเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค

สำหรับ จ.นครราชสีมา พื้นที่ อ.ประทาย และ อ.พิมายเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะนาข้าวของประชาชนที่กำลังออกรวง กรมทรัพยากรน้ำจึงเร่งดำเนินการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ลำสะแทด และแม่น้ำมูล เพิ่มเติมแหล่งน้ำให้กับพื้นที่ที่ประสบปัญหาตามโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ได้จัดเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 12 นิ้ว ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล (แบบเทเลอร์) อัตราการสูบน้ำ 1,670 ลบ.ม./ชม. จำนวน 1 เครื่อง และสำรองไว้ 1 เครื่อง ให้ไว้สำหรับทุกโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น