ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “รองผู้ว่าฯ โคราช” เผยผลตรวจสอบเกษตรกร อ.โนนไทย 11 รายจำนำข้าวนาปรังมากเกินจริงส่อโกงยังไร้ข้อยุติ ชี้เป็นเรื่องซับซ้อนหลักฐานถูกแปรสภาพไปหมดแล้ว ตร.ขอเวลาอีก 7 วัน ส่วนการจำนำข้าวปี 2555/56 สั่งตรวจสอบยิบเกษตรกรทุกรายที่นำข้าวจำนำป้องกันทุจริตสวมสิทธิ ระบุแล้งปีนี้ทำข้าวโคราชหายกว่า 2 แสนตัน ผู้ว่าฯ เตรียมเรียกถกใหญ่รับมือ 8 พ.ย.
วันนี้ (5 พ.ย.) นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีพบเกษตรกรใน อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา จำนวน 11 ราย นำข้าวเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 ปริมาณมากเกินจริงและส่งมอบล่าช้าผิดปกติ เฉลี่ยรายละ 2-2.5 แสนบาท รวมเป็นเงินกว่า 2.5 ล้านบาท และทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ชะลอการจ่ายเงินไว้ทั้งหมดเพราะส่อทุจริตนำข้าวเปลือกจากที่อื่นมาสวมสิทธิจำนำว่า จากข้อพิรุธดังกล่าวทางคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำระดับจังหวัด จ.นครราชสีมา ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว โดยมีพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานการตรวจสอบ ซึ่งได้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนแล้ว
ล่าสุดได้รับแจ้งจากฝ่ายสอบสวนว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนและยังอยู่ในชั้นของการสอบสวน เพราะระยะเวลาที่เกิดเหตุผ่านมานานพอสมควรแล้ว ทำให้การพิสูจน์หลักฐานต่างๆ ทำได้ยาก และข้าวเปลือกที่นำมาจำนำได้เข้าสู่ระบบการสั่งสีแปรสภาพไปเรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถที่จะนำวัตถุพยานมาประกอบได้ว่าเป็นข้าวของเกษตรกรนั้นจริงหรือไม่ จึงต้องสอบสวนที่พยานบุคคลเป็นสำคัญ และต้องใช้ความละเอียดรอบคอบอย่างรัดกุม คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาน 7 วันน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ หากเป็นการทุจริตจริงก็จะต้องรวบรวมหลักฐานแจ้งความดำเนินคดี
ส่วนอีกกรณีหนึ่งเป็นความเดือดร้อนของเกษตรกร คือ ผู้ประกอบการค้าข้าวตระเวนรับซื้อข้าวจากเกษตรกรพื้นที่ ต.กระชอน อ.พิมาย ในฤดูกาลผลิตปี 2554/55 ที่ผ่านมา โดยให้ราคาสูงกว่าราคารับจำนำของรัฐบาลแต่ยังค้างการชำระเงินให้แก่เกษตรกรจำนวนหลายล้านบาท ซึ่งกรณีนี้เป็นคดีทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีทุจริตโครงการรับจำนำ ได้มีการเสนอในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ และย้ำให้นายอำเภอตรวจสอบดูแล เพราะว่าเป็นกรณีทางแพ่ง ถ้าสามารถไกล่เกลี่ยแล้วนำเงินมาคืนให้เกษตรกรก็สามารถยอมความกันได้
นายชยาวุธกล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 ในขณะนี้นั้น รัฐบาลมีมาตรการกำหนดว่า หากเกษตรกรรายใดนำข้าวมาจำนำเกินกว่าร้อยละ 20 ของประมาณผลผลิตเฉลี่ยตามเกณฑ์เฉลี่ยของสำนักงานสถิติการเกษตร ให้ทำการตรวจสอบทุกราย
ในส่วนของ จ.นครราชสีมาได้กำหนดแนวทางปฏิบัติว่าให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดรับจำนำ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนเกษตรกร เจ้าหน้าที่ของทางราชการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำจุดให้ลงนามใบสอบสวนชั้นต้น โดยให้เกษตรกรผู้นำข้าวมาจำนำรับรองผลผลิตตัวเอง ไม่ว่าจะเกินร้อยละ 20 หรือไม่ก็ตามเพื่อให้เกิดความรัดกุม
ในส่วนของคณะทำงานระดับอำเภอ ได้มีการเน้นย้ำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการออกหนังสือรับรองกรณีที่เกษตรกรนำข้าวมาจำนำเกินร้อยละ 20 ให้มีการสอบปากคำพยานอย่างน้อย 2 คน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้มีที่นาอยู่แปลงข้างเคียง หรือเพื่อนบ้าน หรืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มีการยืนยันประกอบว่าข้าวที่เกินร้อยละ 20 เป็นข้าวของเกษตรกรรายนั้นจริง
นายชยาวุธกล่าวอีกว่า ส่วนผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในปีนี้คาดว่าจะส่งผลเสียหายให้ผลผลิตข้าวของ จ.นครราชสีมาลดลงกว่า 2 แสนตัน โดยจะมีข้าวออกสู่ตลาดเพียง 1.3 ล้านตันเศษ ขณะนี้ทางสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอได้เร่งออกสำรวจและสรุปความเสียหาย เพื่อเสนอขอรับเงินชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลัง
“ในปีนี้จึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาจะเรียกประชุมซักซ้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้ง เพื่อทำแผนรับมือในวันที่ 8 พ.ย. นี้” นายชยาวุธกล่าวในที่สุด