กาฬสินธุ์ - “ปลอดประสพ สุรัสวดี” รองนายกรัฐมนตรี ประธาน กบอ.ติดตามปัญหาภัยแล้งอีสานตอนกลาง เผยรัฐเตรียมทุ่มงบ 5 หมื่นล้านบาทแก้วิกฤตภัยแล้งในเขตภาคอีสานทั้งระบบภายใน 3-5 ปี เบื้องต้นทุกครัวเรือนต้องมีน้ำดื่มน้ำใช้ และประคับประคองพืชผลทางการเกษตรให้เสียหายน้อยที่สุด
วันนี้ (8 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือเขื่อนลำปาว นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. พร้อมคณะ เข้าติดตามปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง
โดยมีนายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสมศักดิ์ ขำทวีพรม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นำหัวหน้าส่วนราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานภาคการเกษตร ชลประทานจังหวัด รายงานสถานการณ์ ซึ่งพบว่าทั้งสองจังหวัดประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคครอบคลุมทั้งจังหวัด
โดยเฉพาะ จ.กาฬสินธุ์ได้ประกาศให้พื้นที่ 18 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ง ครอบคลุม 133 ตำบล 1,304 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อนและต้องการน้ำอุปโภคบริโภค 335,504 ครอบครัว พื้นที่การเกษตรประสบภัย 484,933 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 371,528 ไร่ คิดเป็น 54% ของพื้นที่ มูลค่าความเสียหาย 216,247,342 บาท
ซึ่งการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น รองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ทุกส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลประชาชนให้ทุกครัวเรือนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ กับการประคับประคองพืชไรให้เสียหายน้อยที่สุด และยังได้เดินทางไปสำรวจความแห้งแล้งของน้ำในเขื่อนลำปาว ซึ่งล่าสุดเหลือน้ำอยู่เพียง 350 ล้าน ลบ.ม.
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ประธาน กบอ. กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะฝนทิ้งช่วงในภาคอีสานซึ่งกำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งได้ครอบคลุม 21 จังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ซึ่งตรวจสอบพบว่าปัญหานี้เกิดจากฝนทิ้งช่วง
เพราะน้ำฝนหายจากระบบไปถึงร้อยละ 70 การแก้ไขปัญหา รัฐบาลจะสนับสนุนเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาทจากจำนวนเงิน 3.5 แสนล้านบาท เข้าทำการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเขตภาคอีสานทั้งระบบ โดยใช้เวลา 3-5 ปี
แต่ในปีนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเน้นให้ทุกหมู่บ้านมีน้ำอุปโภคบริโภค กับการประคับประคองน้ำทางการเกษตรเพื่อไม่ให้พื้นที่เพาะปลูกเกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ด้วยการนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ ซึ่งจะมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดูแล กับการทำฝายกั้นลำน้ำเพื่อชะลอความแห้งแล้งเป็นการชั่วคราว
นอกจากนี้ยังจะมีการสร้างคลังเครื่องมือในการขุดเจาะบ่อบาดาลให้ในแต่ละจังหวัดเพื่อเข้าทำการซ่อมแซมทันทีเมื่อเครื่องชำรุดเสียหาย กับการจัดหาอาชีพเสริมให้ชาวบ้านในชุมชน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวที่เป็นโครงการระยะยาวก็จะต้องรอเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็จะทำการขุดหาน้ำและปรับปรุงแหล่งน้ำให้มีสภาพที่สามารถกักเก็บได้เพิ่มขึ้น
สำหรับการติดตามปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ขณะนี้ ทางจังหวัดได้นำเสนอโครงการขนาดใหญ่ในการแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำรวม 87 โครงการ ซึ่งจะมีการตรวจสอบและเสนอต่อ ครม.เพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป