xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอด” ซัด “ปราโมทย์” โง่-ไร้ข้อมูล พูดเรื่องแล้งคลุมเครือทำแตกตื่น ยันมีน้ำพอ-ปีนี้ไม่ท่วมแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ (ภาพจากแฟ้ม)
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ สำรอกกลับอดีตอธิบดีกรมชลฯ ซัดพูดคลุมเครือ ยันไม่ระบายน้ำทิ้งขว้าง เหน็บทำเก่งสู้อีก 14 หน่วยงานไม่ได้ ตอกซ้ำโง่-ไม่มีข้อมูล เหมือนจงใจหาเรื่อง ยันปีนี้ฟันธงน้ำไม่ท่วมร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำกร่างแนะหัดเคารพคนอื่นบ้าง กำชับอย่าให้ข่าวกระแทก แต่ทำขึงขังอดทนได้อีกไม่กี่ครั้ง ด้าน “รอยล” แจงรัฐไม่ลืมภัยแล้ง ทำงานเป็นขั้นตอน อ้างสถานการณ์เปลี่ยนไปมาก ต้องทำงานหนัก

วันนี้ (27 ส.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พร้อมด้วย นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล หลังจากที่ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ออกมาระบุว่า รัฐบาลบริหารจัดการน้ำผิดพลาด โดยเฉพาะเรื่องการระบายน้ำออกจากเขื่อนจนทำให้เกิดภาวะน้ำแล้ง

โดย นายปลอดประสพ กล่าวว่า การที่ นายปราโมทย์ บอกว่า รัฐบาลระบายน้ำทิ้งขว้างนั้น ไม่ใช่ เพราะคณะกรรมการควบคุมการระบายน้ำมีมานานแล้ว แต่เป็นการตั้งภายใน ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจึงสั่งตั้งให้ตนเป็นคนลงนาม โดยมี นายรอยล เป็นประธาน ร่วมกับ 14 หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับน้ำ โดยให้ข้อมูลทุกวันและเข้าประชุมสัปดาห์ละครั้ง และมีกรมชลประมานทำงานเป็นทีมใหญ่ ดังนั้น นายปราโมทย์ จะเก่งสู้ 14 หน่วยงานไม่ได้ ทั้งนี้ การที่ นายปราโมทย์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องภัยแล้งที่คลุมเครือ และทำให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะขณะนี้อยู่กลางหน้าฝน ซึ่งถ้าเป็นคนมีความรู้จะไม่พูดเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องฝนทิ้งช่วงในเดือนสิงหาคมมากกว่า เพราะการกำหนดภัยแล้งจะต้องมีหลักเกณฑ์ นายปราโมทย์ไม่ควรพูดให้คนตกใจ เพราะน้ำน้อยหรือฝนทิ้งช่วงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเรื่องของธรรมชาติ การระบายน้ำจนภาคอีสานเกิดภัยแล้ง ไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องโง่เขลาของคนที่ไม่มีข้อมูล หรือจงใจมาหาเรื่องมากกว่า

นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า ปีนี้น้ำจะไม่ท่วมเหมือนปีที่แล้วแน่นอน ฟันธงได้ 100% เช่นเดียวกันเมื่อถึงต้นฤดูหนาว ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีน้ำในเกณฑ์พอเพียงสำหรับทำการเกษตรตามปกติ ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่และเขื่อนอื่นๆ จะอยู่ในเกณฑ์ปานกลางไม่เหลือเฟือแต่จะไม่ขาดแคลน ส่วนตะวันออกเฉียงเหนือฝนจะน้อยกว่าปกติต่อไป ซึ่งล่องมรสุมที่พาดผ่านก็จะมาช่วยปัญหาภัยแล้งในส่วนนี้ได้ และรัฐบาลจะช่วยสูบน้ำจากลำน้ำต่างๆ เข้ามา และจะช่วยระบบน้ำใต้ดิน เพราะพื้นที่การเกษตรในระบบชลประทานมีเพียง 6% เท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรระบบน้ำฝน แต่สามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ

“ผมกับนายปราโมทย์เป็นข้าราชการรุ่นเดียวกัน เติบโตทางวิชาการเหมือนกัน ผมเคารพนายปราโมทย์ และอยากให้นายปราโมทย์ เคารพคนอื่นบ้าง ผมเชื่อว่า นายปราโมทย์ มีความรู้และมีประสบการณ์ แต่เชื่อว่า ที่พูดมาไม่มีข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวขออย่าให้ข่าวกระทบกระแทกกัน เพราะเป็นเพื่อนกันมากว่า 40 ปี ยืนยันยังเป็นเพื่อนกันอยู่ และผมจะอดทนได้อีก 1-2 ครั้งเท่านั้น” นายปลอดประสพ กล่าว

ด้าน นายรอยล กล่าวว่า การบริหารน้ำนั้นเราไม่ได้บริหารแค่ในเขื่อน แต่เราบริหารทั้งเหนือเขื่อน ท้ายเขื่อน และในลำน้ำทุกสัปดาห์ ในการบริหารจัดการเขื่อนของลุ่มเจ้าพระยา ปีนี้น้ำเข้าเขื่อนสิริกิติ์ค่อนข้างมาก แต่ในส่วนของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้นเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้น้ำแทบจะไม่เข้าเขื่อนเลย จึงต้องมีการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เข้ามาช่วย หากไม่มีการระบายน้ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเกิดปัญหา แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้คิดถึงช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้การระบายน้ำเข้ามาได้มีการตั้งโจทย์ไว้แล้วว่า วันที่ 1 พ.ย.ต้องมีน้ำ 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีการคิดเผื่อไว้ว่าหากไม่พอจะมีการสำรองน้ำไว้ที่ไหนบ้าง เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ ปีนี้น้ำเกินมาก ก็สามารถระบายได้อีก 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อมาช่วยในกรณีที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น เราไม่ได้คิดแค่ทิ้งน้ำอย่างเดียว ขอย้ำว่า เขื่อนสิริกิติ์ และ เขื่อนภูมิพล จำเป็นต้องระบาย ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าเขื่อนภูมิพล มีน้ำต่ำ และก็เป็นไปตามที่คาด ว่า สัปดาห์นี้น้ำจะไหลเข้าเขื่อนค่อนข้างสูง

นายรอยล กล่าวว่า วันนี้การคาดการณ์ฝนไม่ง่ายเหมือนเดิม จะดูจากปรากฏการณ์เอลนีโญและปรากฏการณ์ลานีญาไม่ได้ ก็ต้องมีการระวังสถานการณ์แล้ง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่เกิดภัยแล้งส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณพื้นที่ที่ไม่มีชลประทาน ซึ่งการแก้ปัญหาภัยแล้งนั้นทำได้โดยใช้น้ำบาดาลและแหล่งน้ำธรรมชาติเท่านั้น จึงต้องย้อนกลับไปแก้ที่กลวิธี ส่วนในพื้นที่ภาคกลางจะเห็นว่าฝนนั้นน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่อยู่ในเขตชลประทาน เราแก้โดยการเอาน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ลงมาช่วยได้ สถานการณ์จึงไม่รุนแรง จึงต้องมีการระบายน้ำมากกว่าเกณฑ์ ข้อเท็จจริงตรงนี้สามารถไปคุยกับชาวบ้านได้ เพราะขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก ดูจากประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งควรจะแล้งแต่น้ำกลับท่วม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องทำงานอย่างหนักทุกหน่วยงาน เพื่อปรับตามสถานการณ์ตลอดเวลา
กำลังโหลดความคิดเห็น