“อภิสิทธิ์” เชื่อบริหารแบบปล่อยน้ำทิ้งอย่างเดียวเสี่ยงภัยแล้ง ชี้โครงสร้างพื้นฐานรับการระบายน้ำไม่ต่างจากเดิม บี้รัฐแจงเส้นทางระบายน้ำแก่ ปชช. แนะใช้บทเรียนปี 54 เตือนสติ บริหารอย่างมีเอกภาพ หยุดโยนบาปใส่กัน เผย กทม.ห่วงกระทบหากฝนตก เหตุ รบ.รื้อระบบจัดการฝนทิ้งตามนโยบาย รับไม่แปลก ปธ.หอการค้าแคนาดา-ไทยซัดทุจริตโกหก หลังโครงการ 3.5 แสนล้านมีพิรุธไม่เปิดโอกาสให้เท่าเทียม แนะใช้ความจริงเรียกความเชื่อมั่น หยุดโกหกสีขาวทำลายประเทศ
วันนี้ (31 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ รัฐบาลมีแผนที่จะซ้อมระบายน้ำเข้ากรุงเทพในวันที่ 5 และ 7 กันยายนนี้ว่า นโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลมีความสับสน เพราะถ้าตรวจสอบการลงทุนใช้จ่ายในช่วงปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างพื้นที่มีผลต่อการบริหารจัดการน้ำน้อยมาก โดยดูจากการใช้งบประมาณ 1.8 หมื่นล้าน หรือที่ใช่จ่ายไม่ถึง 1,000 ล้านจากเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนคนที่รัฐบาลแต่งตั้ง เช่น นายปราโมทย์ ไม้กลัด ก็มีความเห็นสวนทางกับนายปลอดประสพอย่างชัดเจน โดยเตือนว่าการบริหารน้ำด้วยการปล่อยน้ำทิ้งในขณะนี้จะมีปัญหาภัยแล้งตามมา ทำให้ไม่มีความชัดเจนว่าการบริหารจัดการน้ำจะทำอย่างไร แต่วันนี้จะทดสอบการปล่อยน้ำก็ต้องถามถึงการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะไม่ได้มีแต่เรื่องของปัญหาน้ำท่วม แต่ยังมีเรื่องของการชลประทาน การเกษตร และภัยแล้ง ดังนั้น ถ้าจะทดลองจริงต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำว่าจะผ่านจุดไหน และใช้เวลานานเท่าไหร่ โครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องรองรับคืออะไร จึงจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะออกมาบอกแล้วเกิดการวิจารณ์จนอาจกลายเป็นความขัดแย้ง เพราะผู้บริหาร กทม.ก็มีความเป็นห่วงว่าในวันที่น้ำมาถึงกรุงเทพฯ ถ้ามีฝนตกหนักจะมีปัญหาหรือไม่ และนายธีระชนก็ยืนยันว่าระบบที่จัดการเกี่ยวกับน้ำฝนถูกรื้อทิ้งไปเมื่อปี 2554 ที่รัฐบาลประสงค์ให้ปรับเพื่อรับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในขณะนั้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในปีนี้ คือ การที่หน่วยงานต่างๆ ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน มีความขัดแย้ง เมื่อเกิดปัญหาก็มาโยนความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน เพราะควรจะได้บทเรียนที่สำคัญตั้งแต่น้ำท่วมในปี 2554 แล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าไม่มีการซักซ้อมทำความเข้าใจให้ดีกันก่อน ดังนั้น หากรัฐบาลจะทดสอบความพร้อมของโครงสร้างต่างๆ ตนคิดว่าต้องกำหนดให้ชัดว่ามีทางเลือกวิธีการอย่างไรที่จะยืนยันความพร้อม แต่จะทดสอบในลักษณะนี้แล้วบอกว่าถ้าเกิดปัญหาเป็นความผิดของคนนั้นคนนี้คงไม่ได้ช่วยอะไร
“ผมคิดว่าประชาชนมีสิทธิที่จะรู้ว่าการบริหารของรัฐบาลจะกระทบประชาชนอย่างไร เขาต้องรับรู้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด บริเวณไหนจะถูกกำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำ เส้นทางการระบายน้ำจะผ่านทางไหน แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีการเปิดเผยทำความเข้าใจกับประชาชน และการที่ประธานหอการค้าแคนาดา-ไทยออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการทุจริตโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้น ก็เป็นเพราะกติกาที่จะให้เอกชนร่วมมีปัญหามาก พรรคติดตามอยู่และให้ข้อสังเกตกับรัฐบาลมาโดยตลอด จึงอยากเห็นรัฐบาลทบทวนแก้ไขโดยให้ความสำคัญกับการจัดการภัยพิบัติมากกว่าให้ความสำคัญกับโอกาสการประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์
การที่ประธานหอการค้าแคนาดาฯ ออกมาพูดเช่นนี้ ย่อมสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อภาครัฐ เนื่องจากมีข่าวสารว่ามีการติดต่อกับบางประเทศทำให้เขารู้สึกว่าจะมีโอกาสอย่างเท่าเทียมหรือไม่ และที่สำคัญที่เขาท้วงติงว่ารัฐบาลไม่ควรพูดโกหกต่อนักลงทุนนั้นก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งผมคิดว่าเขาคงกังวลและสับสนกับกติกาที่รัฐบาลกำหนดอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น การจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมารัฐบาลจะต้องปรับพฤติกรรมของตัวเอง ปรับระบบใหม่ เพราะถ้ายังเดินหน้าโครงการ 3.5 แสนล้านแบบนี้ต่อไปคงเรียกความเชื่อมั่นได้ยาก โดยเฉพาะการจะใช้วิธีโกหกสีขาวมาเรียกความเชื่อมั่นตามแนวคิดของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังนั้นไม่ควรนำมาใช้โดยเด็ดขาด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว