xs
xsm
sm
md
lg

คนสะเอียบลงมติไม่รับ “ผ้าห่มแจก” หวั่นถูกหลอกเซ็นชื่อ-เลข 13 หลักหนุน “แก่งเสือเต้น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชาวสะเอียบ พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นประกาศ “ไม่รับผ้าห่มกันหนาวแลกลายเซ็น และเลขประจำตัว 13 หลัก หวั่นนำไปอ้างหนุนเขื่อน” พร้อมเสนอ 12 ทางออกการแก้ไขน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม

รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งว่า วันนี้ (3 พ.ย.) ชาวบ้านบ้านดอนชัย หมู่ 1 ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ชาวบ้านบ้านแม่เต้น หมู่ 5 ชาวบ้านบ้านดอนแก้ว หมู่ 6 ได้ประชุมปรึกษาหารือกันถึงเรื่องการแจกผ้าห่มกันหนาวประจำปี ซึ่งในขณะนี้อากาศที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้เริ่มหนาว และมีหมอกลงจัดในตอนเช้า

ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง และมีมติว่า หน้าหนาวปีนี้จะไม่รับผ้าห่มที่หน่วยงานราชการนำมาแจกเป็นประจำทุกปี เพราะต้องลงชื่อลายเซ็นและลงเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการรับผ้าห่มกันหนาว ชาวบ้านเกรงว่า หน่วยงานที่มาแจกอาจนำรายชื่อ และลายเซ็นของตนนำไปอ้างสนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ชาวบ้านคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง

นายสอนชัย อยู่สุข ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง อายุ 62 ปี กล่าวว่า ชาวบ้านกลัวหน่วยงานที่มาแจกผ้าห่มกันหนาว จะมาหลอกเอารายชื่อ และลายเซ็นของชาวบ้านไปอ้างว่าชาวบ้านสนับสนุนการสร้างเขื่อน จึงมีมติไม่รับผ้าห่มกันหนาวในปีนี้

นายสอนชัย ยังกล่าวอีกว่า ในช่วงนี้มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาในชุมชน เราต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะเราได้ประกาศไปแล้วว่า ห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนเข้าพื้นที่ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา อย่างเขื่อนปากมูลหน่วยงานราชการก็ไปหลอกเอารายชื่อ ลายเซ็นชาวบ้านไปอ้างสนับสนุนเขื่อน หรือกรณีของยายไฮ เขื่อนห้วยละห้า ก็ยังมีลายเซ็นยายไฮยกที่ให้สร้างเขื่อน ทั้งที่ยายไฮ เขียนหนังสือไม่เป็น หน่วยงานราชการยังปลอมแปลงไปให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจผิดๆได้

“เรามีบทเรียนมาแล้วไม่อยากให้เกิดขึ้นกับบ้านเรา เราจึงตัดไฟเสียแต่ต้นลม ประกาศไม่รับผ้าห่มกันหนาวในปีนี้ จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบหลอกลวงชาวบ้านเกิดขึ้นอีก”

ด้านผู้ใหญ่สุดารัตน์ ชัยมงคล ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัย หมู่ 1 กล่าวว่า ชาวบ้านต่อสู้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ปกป้องป่าสักทองมายาวนาน ถึงแม้จะแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็น 2 เขื่อน คือเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง น้ำก็จะท่วมป่าสักทอง ท่วมที่ทำกินของชาวบ้านเกือบทั้งหมด แล้วชาวบ้านจะทำมาหากินอะไร ก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีป่า ชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องต่อสู้คัดค้านต่อไปจนถึงที่สุด

กำนันเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า เมื่อมติของชาวบ้านไม่รับผ้าห่มกันหนาวประจำปีนี้ ตนก็จะได้แจ้งไปทางอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะทุกปีจะมีหน่วยงานราชการ และเอกชนมาแจกผ้าห่มกันหนาวทุกปี ซึ่งการรับผ้าห่มกันหนาวจะต้องเซ็นชื่อรับ และลงเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นหลักฐาน ชาวบ้านจึงเกรงว่าหน่วยงานอาจเอารายชื่อ ลายเซ็น ทั้งเลขประจำตัว 13 หลัก ไปใช้เป็นหลักฐานในการสนับสนุนเขื่อน จึงมีมติไม่รับผ้าห่มกันหนาวในปีนี้ และตนจะได้นำไปแจกให้กับชาวบ้านหมู่อื่นๆ ต่อไป

จากการหารือกัน ชาวสะเอียบได้เสนอให้รัฐยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง แนะให้ใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน พร้อมเสนอทางออกการแก้ไขน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 12 ข้อ ดังนี้

1.ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวร และยั่งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอนช่วยลดโลกร้อน รวมทั้งฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่มวลมนุษยชาติ

2.รักษา และพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซูเปอร์มาร์เกตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่า และสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น

3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะในเมือง สร้างพื้นที่สีเขียวให้แก่ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชนช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า

4.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเอง และเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษา และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุนเป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน

5.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ

6.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

7.ทำแก้มลิงไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

8.พัฒนาหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ

9.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือสระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้แก่ชาวบ้าน และชุมชนอย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

10.กระจายอำนาจ และงบประมาณให้แก่ชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และระบบการจัดการน้ำของชุมชน ท้องถิ่น และให้สิทธิ และอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ

11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู

12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่าให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม

กำนันเส็ง ย้ำตอนท้ายอีกว่า เราไม่ควรเอางบประมาณแผ่นดิน 12,000-14,000 ล้าน บาทไปผลาญกับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ปล่อยน้ำท่วมกรุงเทพฯ อีกต่อไป อีกทั้งจุดที่สร้างเขื่อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม รอยเลื่อนแผ่นดินไหว 1 ใน 13 รอยเลื่อนที่มีอยู่ในประเทศไทย เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมล่าง ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม เขื่อนแก่งเสือเต้น สูง 72 เมตร จากท้องน้ำแม่ยม หากเขื่อนแตกคงไม่ตายเฉพาะคนเมืองสอง แต่คงตายทั้งเมืองแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร


กำลังโหลดความคิดเห็น