xs
xsm
sm
md
lg

จวกซ้ำรัฐทำนโยบายจัดการน้ำ “กักขฬะ” ปลุกสังคมนำปัญหาเขื่อนปฏิรูปการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - นักวิชาการชี้ “นักการเมือง” คือตัวการใหญ่ จงใจทำคนสุโขทัย-ลาดยาวเดือดร้อนจากน้ำท่วม-ภัยแล้ง หวังปลุกปั้นสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น-เขื่อนแม่วงศ์ ผลาญงบแผ่นดิน เปิดช่องแสวงหาผลประโยชน์ วางนโยบายการจัดการน้ำแบบ “กักขฬะ” สนองกลุ่มทุนต่างชาติ ปลุกสังคมนำประเด็นเขื่อน-สิ่งแวดล้อม จัดการปฏิรูปนักการเมือง

วันนี้ (6 ต.ค.) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ สมัชชาคนจน กลุ่มศิลปินเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเครือข่ายชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนโดยเฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์ รวมกว่า 1,500 คน ร่วมเวทีเสวนาเรื่อง การปกป้องป่าสักทอง ลุ่มน้ำยม ชุมชนสะเอียบ และผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน

รวมถึงแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้านของรัฐบาล ที่เครือข่ายรักษ์ป่ากลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ มูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมต่อต้านโลกร้อน เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ องค์กรแม่น้ำเพื่อชีวิต คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชน (กป.อพช.) และสมัชชาคนจน จัดขึ้นเพื่อให้ชุมชนได้เข้าใจถึงสถานการณ์สร้างเขื่อนใหญ่ รวบรวมผลการจัดการน้ำที่ประสบความสำเร็จ สะท้อนข้อห่วงใยข้อเสนอของภาคประชาชน และเปิดให้สังคมได้รับรู้ และร่วมตรวจสอบการทำงานของภาครัฐในการทำแผนจัดการน้ำถูกต้องหรือไม่

ในวงเสวนาดำเนินการโดย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ มีวิทยากรที่ขึ้นพูดรวม 7 คน คือ นายนิคม พุทธา องค์กรพัฒนาเอกชนจาก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายวีรวัธน์ ธีระประสาสน์ ประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อม นายอดิศักดิ์ จันทวิชานุวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิฝืนป่าตะวันตก ดร.พิทยา สุวคนธ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนายเดช พุ่มคชา

ผู้เข้าร่วมเสวนามองว่า การพัฒนาของรัฐยังใช้วิธีเก่าๆ ที่ไม่เป็นธรรมต่อสังคม โดยมีกลุ่มนักธุรกิจ นักการเมือง และข้าราชการบางส่วนอยู่เบื้องหลังการพัฒนาไม่ต้องการแก้ปัญหาจริง แต่ต้องการหาผลประโยชน์ เช่น จากทรัพยากร และงบประมาณของรัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดในการทุ่มงบประมาณแก้ปัญหาอุทกภัย 3.5 แสนล้าน นำไปสู่การทุจริต ไม่ฟังเสียงประชาชน และไม่ดูผลการศึกษาวิจัย ทำให้เกิดความขัดแย้งไปทั่ว เมื่อโครงการของรัฐลงไปถึง มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมจนเกิดความไม่สมดุล ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

แนวทางการสร้างเขื่อนเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เอาใจกลุ่มทุนต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศ มีการเปลี่ยนเส้นทางเดินของน้ำ และสร้างเขื่อนเพื่อสร้างความมั่นใจ โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง และอีกประการมาจากรัฐบาลไทยร่วมกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจ จัดการระบบในประเทศไทยเพื่อผลประโยชน์ของคนต่างชาติ

ทางออกที่ดีนั้น กลุ่มที่ร่วมเสวนาแนะน้ำให้ประชาชนต้องอดทนยืนหยัดหยุดการทำลายทรัพยกร และร่วมมือการต่อต้านจนถึงที่สุด ซึ่งชุมชนที่ออกมาต่อสู้ได้เปรียบกว่าฝ่ายรัฐ เนื่องจากฝ่ายรัฐมีแนวทางสร้างเขื่อนท่ามกลางการไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลทางวิชาการ ในขณะที่ชาวบ้านนั้นใช้เหตุผลในการต่อสู้ จนเป็นที่มาของคำว่า “นโยบายบริหารจัดการน้ำแบบกักขฬะ”

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ปัญหาการจัดการน้ำที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าไม่ได้ผล และยังมีเจตนาที่จะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น ทั้งนี้ เกิดจากนักการเมืองเป็นสำคัญ การออกมาต้านเขื่อนควรที่จะเอาประเด็นเขื่อนขยายผลไปสู่การปฏิรูปนักการเมืองไปเลย เพราะเขื่อนเป็นช่องทางให้ตั้งแต่หัวหน้าพรรค รวมไปถึง ส.ส.ที่อ้างว่าเป็นคนพัฒนาเป็นคนผลักดัน

ส่วนกลไกราชการ ถ้าเป็นกรมชมมีกลไกกำกับของมันอยู่เช่น การทำอีไอเอ หรือในอุทยานคณะกรรมการอุทยานฯ เขาไม่เพิกถอนการเป็นอุทยานแห่งชาติก็สร้างไม่ได้ ส่วนผู้ที่เห็นด้วย หรือคัดค้านก็ต้องเคารพกฎหมาย แต่คนที่ไม่เคารพกฎหมายจริงๆ คือ นักการเมือง การที่ออกมาประกาศว่าจะสร้างเขื่อน แสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ไม่พัฒนาอะไรเลย ถ้าจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจริงๆ ต้องเปลี่ยนที่การเมือง

ประชาชนก็ต้องรอการบ่มเพาะ รอได้รับการศึกษาประชาชนไทยไม่สนใจเรื่องข้อมูลข่าวสาร ที่สำคัญข้อมูลข่าวสารการสร้างเขื่อนเป็นเรื่องซับซ้อน คนไทยมักไม่เอาอะไรที่มันยากๆ ดังนั้น เรื่องภูมิศาสตร์ไม่รู้เรื่อง แก่งเสือเต้นกับสุโขทัย เอาตามร่องน้ำยาวเกือบ 300 กม. ไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลย เกี่ยวเพียง 6-10% แค่ทำคันกั้นน้ำที่สุโขมัย ระบายน้ำบางระกำโมเดลก็แก้ได้แล้ว ไม่เกี่ยวกับแก่งเสือเต้น

“เรื่องอย่างนี้ตนคิดว่ามันมีกระบวนการมาจากการเมืองทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทำอย่างไรให้สุโขทัยเดือนร้อน ลาดยาวเดือดร้อน หรือทำให้ทุกคนต้องรู้สึกว่ามันแล้ง ต้องได้เงินเหมือนปทุมธานีแล้วนักการเมืองก็พยายามหางบประมาณหาผลประโยชน์ เป็นเรื่องง่ายๆ แบบนี้ ต้องถือโอกาสวาระเรื่องเขื่อนปฏิรูปนักการเมือง”

กำลังโหลดความคิดเห็น