xs
xsm
sm
md
lg

WWF ชี้โครงการเขื่อนแม่วงก์คุกคามความอยู่รอดของเสือโคร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุทยานฯแม่วงก์สามารถบันทึกภาพเสือไว้ได้บ่อยครั้ง
WWF ชี้แจงแผนการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นภัยคุกคามต่อประชากรเสือโคร่ง และความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของงานอนุรักษ์ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย เผยภาพหายากของเสือโคร่งแม่ลูกที่ดักถ่ายได้ล่าสุด ในพื้นที่ใกล้เคียงกับบริเวณที่จะก่อสร้างเขื่อน วิดีโอดังกล่าวเป็นบทพิสูจน์สำคัญถึงความสำเร็จของภาครัฐและชุมชนในการร่วมฟื้นฟูความสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์และผืนป่าตะวันตกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของเสือโคร่ง

“ภาพเสือโคร่งแม่ลูกเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแม่วงก์–คลองลาน เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ต้องการเหยื่อเป็นอาหารจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีลูกอ่อนยิ่งต้องการอาหารมากกว่าเดิมหลายเท่า ดังนั้น หากในพื้นที่อาศัยมีประชากรสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อไม่เพียงพอ แม่เสือโคร่งย่อมไม่สามารถเลี้ยงลูกให้อยู่รอดได้” ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน WWF ประเทศไทย กล่าว “จากผลการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพเบื้องต้น เรายังสามารถถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ได้แล้วถึง 30 ชนิด โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่งทั้ง กระทิง เก้ง หมูป่า และกวาง รวมทั้งพบสัตว์ตระกูลเสือชนิดอื่น ๆ เช่น เสือดาว เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว และ สัตว์ป่าสงวนของประเทศอีกสามชนิดได้แก่สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความสมบูรณ์ที่พลิกฟื้นคืนมาแล้วของป่าแม่วงก์-คลองลาน”

จำนวนเสือโคร่งอินโดจีนที่พบในประเทศไทย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม อยู่ในภาวะวิกฤติอย่างยิ่งเนื่องจากที่อยู่อาศัยถูกคุกคามและประชากรของสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อที่ถูกล่าจนลดจำนวนลงอย่างมาก โดยคาดว่าปัจจุบันมีเสือโคร่งหลงเหลืออยู่ในป่าน้อยกว่า 300 ตัว

การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและ WWF ประเทศไทย ในการติดตามสำรวจประชากรเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และคลองลาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก อันประกอบไปด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 17 พื้นที่ รวมพื้นที่ธรรมชาติทั้งหมดราว 19,000 ตารางกิโลเมตร จนถึงปัจจุบันคณะผู้ศึกษาสามารถบันทึกภาพเสือโคร่งได้แล้วอย่างน้อย 9 ตัว และลูกอีก 2 ตัว นักวิจัยของ WWF คาดว่ายังคงมีเสือโคร่งมากกว่าจำนวนที่เก็บข้อมูลได้ และจากการตรวจสอบรูปพรรณโดยอาศัยลักษณะเฉพาะของลายพบว่าหนึ่งในจำนวนนั้น เป็นเสือโคร่งตัวเดียวกับที่เคยบันทึกภาพได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปจากป่าแม่วงก์ราว40กิโลเมตร หลักฐานสำคัญชิ้นนี้จึงยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำถึงความสำคัญและความเชื่อมโยงของป่าแม่วงก์และป่าห้วยขาแข้งอันเป็นหัวใจสำคัญของผืนป่าตะวันตก บ้านของสัตว์ป่าที่ไร้พรมแดน

โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ และการอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมสุดยอดว่าด้วยเสือโคร่ง (Tiger Summit) ที่นครเซนต์ปีเตอร์ส์เบิร์ก ประเทศรัสเซีย โดยรัฐบาลไทยและประเทศอื่นๆที่ยังเป็นพื้นที่อาศัยของเสือโคร่งรวมทั้งหมด 13 ประเทศได้ร่วมลงนามในโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งระดับโลก (The Global Tiger Recovery Program) โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อภายใต้ข้อมูลวิชาการที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ และปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการอนุรักษ์เสือแห่งชาติของประเทศไทยที่ต้องการเพิ่มประชากรของเสือโคร่งให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2565

“การปรากฏตัวของเสือโคร่งแม่ลูกและสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง รวมถึงความหลากหลายของสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ เป็นบทพิสูจน์ถึงความสำเร็จของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและองค์กรอนุรักษ์ต่างๆที่เข้าไปสนับสนุน การทำงานอนุรักษ์ของเรากำลังเดินมาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะการพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์เชิงรุกที่มุ่งเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของชุมชนโดยรอบ” ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน WWF ประเทศไทย กล่าว “ผืนป่าแม่วงก์และคลองลานเป็นบ้านของสัตว์ป่าหายากหลายชนิดรวมถึงเสือโคร่ง การปกป้องเสือโคร่ง จึงเท่ากับการได้ปกป้องสัตว์ชนิดอื่นๆด้วย”

อย่างไรก็ตาม แผนการสร้างเขื่อนแม่วงก์มูลค่าหนึ่งหมื่นสามพันล้านบาท จะส่งผลกระทบต่องานอนุรักษ์เสือโคร่งของประเทศไทยในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ รวมถึงผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร

ตัวเขื่อนจะท่วมทำลายพื้นที่ป่าริมน้ำกว่าหนึ่งหมื่นไร่ ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญยิ่ง รวมทั้งเป็นพื้นที่หากินสำคัญของกวางป่าซึ่งเป็นเหยื่อชนิดหลักของเสือโคร่ง ปัจจุบันสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อหลายชนิดได้เพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นจากความพยายามฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะนำมาซึ่งการตัดไม้ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ การขนเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าสู่พื้นที่ การตัดถนน และการพัฒนาพื้นที่รอบเขื่อน ล้วนเป็นปัจจัยคุกคามความอยู่รอดของเสือโคร่งและเหยื่อของเสือโคร่ง

WWF และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ร่วมคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณามาตรการอื่นๆในการจัดการกับน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งวิธีอื่นๆ อาทิการเลือกตำแหน่งที่ตั้งของเขื่อนนอกพื้นที่อนุรักษ์ที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า การจัดการน้ำอย่างบูรณาการทั้งระบบ การปรับปรุงระบบชลประทานและการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ทั้งนี้ควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาวอย่างรอบด้าน

“ผลของความพยายามและความทุ่มเทของงานอนุรักษ์ตลอดระยะเวลาหลายปีที่เริ่มส่งผลให้เห็นถึงความสำเร็จ จะพังทลายลงทันทีหากมีการสร้างเขื่อน” ดร.รุ้งนภากล่าว “เราควรพิจารณาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากเขื่อนแม่วงก์ มิเช่นนั้นเราอาจสูญเสียสัตว์ป่าสำคัญอย่างเสือโคร่ง รวมถึงสัตว์ป่าสำคัญชนิดอื่นๆ”
กำลังโหลดความคิดเห็น