xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอร้อง “ยิ่งลักษณ์” ทบทวนแผนผลิตไฟฟ้า ยันคาดการณ์ใช้ไฟฟ้าเกินจริง-โครงการใหญ่กระทบหลายด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เอ็นจีโอเตรียมเสนอ “ยิ่งลักษณ์” ทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หลัง กฟผ.เดินหน้า 7 โครงการใหญ่พื้นที่ภาคเหนือ หวั่นสร้างผลกระทบมหาศาลทั้งด้านสังคม-สิ่งแวดล้อม แถมประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วม ระบุเหตุพัฒนาโครงการมากมายเพราะประเมินปริมาณการใช้ไฟฟ้าในอนาคตเกินจริง เชื่อประเทศรับมือการใช้ไฟฟ้าในอนาคตได้โดยไม่ต้องทำโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่

คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.ในภาคเหนือ เรียกร้องให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พิจารณาทบทวนโครงการพลังงานไฟฟ้าจำนวน 7 โครงการในพื้นที่ภาคเหนือ ภายใต้การดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ปี 2555-2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ใหม่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าว ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ ในวันนี้ (16 ส.ค.)

คณะทำงานชุดดังกล่าวได้นำเสนอข้อเรียกร้องใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ขอให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาระบบไฟฟ้าของประเทศอย่างจริงจัง ให้สอดคล้องกับความโปร่งใส หลักการธรรมาภิบาลที่ดี และสอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้รับรองสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมพัฒนาในทุกๆ ด้าน 2. ต้องไม่ให้มายาคติเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานถูกนำมาใช้เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยปราศจากการตรวจสอบดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชนแล้ว ยังจะเป็นการสร้างภาระให้ประชาชนในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้ามากกว่า 2 แสนล้าบาทในอีก 18 ปีข้างหน้า และ 3. ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ. นำข้อเสนอ “แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2555-2573” หรือแผนพีดีพี 2012 มาใช้ในการกำหนดทิศทางด้านพลังงานของประเทศแทน

โดยแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2555-2573 หรือแผนพีดีพี 2012 ซึ่งจัดทำโดยนางชื่นชม สง่าราศี กรีเซน และ ดร.คริส กรีเซน ที่คณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. ในภาคเหนือได้หยิบยกขึ้นมานำเสนอนั้น มีสาระสำคัญคือ เห็นว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2553-2573 ของ กฟผ. ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดที่เกินจากความเป็นจริง ซึ่งเป็นผลให้ กฟผ.ใช้เป็นข้ออ้างในการส่งเสริมให้มีโครงการพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายโครงการ รวมทั้งโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและใกล้เคียงรวม 7 โครงการ ทั้งที่หากพิจารณาความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดตามความเป็นจริงแล้ว ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของไทยจะต่ำกว่าตัวเลขที่ประมาณการไว้ค่อนข้างมาก

โดยแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ระบุว่า ในปี 2573 ประเทศไทยจะต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพึ่งได้เท่ากับ 60,680 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ในปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพึ่งได้อยู่ที่ 30,608 เมกะวัตต์ ขณะที่แผนพีดีพี 2012 เห็นว่าในปี 2573 ประเทศไทยควรมีกำลังผลิตไฟฟ้าพึ่งได้อยู่ที่ 35,579 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วง 18 ปีข้างหน้าอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดตามความเป็นจริงแล้ว จะส่งผลให้การปรับปรุงแผนกำลังผลิตไฟฟ้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือนำเข้าเชื้อเพลิงต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่ม เพราะในปัจจุบันศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าของประเทศนั้นเพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งสามารถรองรับปริมาณที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน โดยสามารถใช้วิธีการสร้างโครงการพลังงานหมุนเวียน พลังงานความร้อนร่วม และเดินหน้าโรงไฟฟ้าอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการลงทุนในมาตรการประสิทธิภาพด้านพลังงาน พลังงานหมุนเวียน การยืดอายุโรงไฟฟ้า และโครงการระบบโคเจเนอเรชัน ซึ่งทั้งหมดสามารถให้ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศโดยไม่จำเป็นจะต้องลงทุนในโครงการขนาดใหญ่แต่อย่างใด

การนำเสนอข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีของคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.ในภาคเหนือ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ กฟผ.ได้ดำเนินการโครงการพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภาคเหนือจำนวน 7 โครงการ ประกอบด้วย

1. โครงการสายส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ใน สปป.ลาว กำลังการผลิต 1,473 เมกะวัตต์ เพื่อส่งไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทยผ่านทาง อ.สองแคว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ไปยังระบบสายส่งที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

2. โครงการเขื่อนฮัตจี กำลังการผลิต 1,260 เมกะวัตต์ บนแม่น้ำสาละวินในเมียนมาร์ และโครงการสายส่งไฟฟ้าเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

3. โครงการเขื่อนท่าซาง กำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ บนแม่น้ำสาละวินในประเทศเมียนมาร์ และโครงการสายส่งไฟฟ้าเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทาง อ.แม่อาย และ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

4. โครงการสายส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมายกก กำลังการลิต 405 เมกะวัตต์ ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ผ่านเข้าสู่ประเทศไทยทาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย

5. โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

6. โครงการเหมืองลิกไนต์ที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

และ 7. โครงการสายส่งไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบ่ง และเขื่อนน้ำอู ใน สปป.ลาว ผ่านเข้าสู่ประเทศไทยทาง อ.สองแคว และ อ.ท่าวังผา จ.น่าน

ทั้งนี้ คณะทำงานชุดนี้ระบุว่า โครงการทั้งหมดซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่จะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และต่อชุมชน ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่สูงเกินกว่าเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศของ กฟผ.

นอกจากนี้ การพิจารณาโครงการทั้งหมดยังเกิดขึ้นโดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่เคยได้รับทราบหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ จากการให้ข้อมูลของตัวแทนจากเครือข่ายลุ่มน้ำสาละวิน กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจาก อ.เวียงแหง และมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จ.เชียงราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวแทนจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตั้งโครงการทั้ง 7 แห่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการพลังงานไฟฟ้าในภาคเหนือของ กฟผ. และได้เดินทางเข้ามาร่วมให้ข้อมูลในการแถลงข่าวในวันนี้

นายมนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.ในภาคเหนือ กล่าวว่า รัฐบาลควรที่จะพยากรณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามความเป็นจริง เนื่องจากการพยากรณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในอนาคตว่าจะมีปริมาณมากนั้นส่งผลให้ กฟผ.เข้าไปดำเนินโครงการพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวนมาก โดยอ้างว่าเพื่อให้ประเทศมีไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ ทั้งที่ปริมาณไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้ในปัจจุบันนั้นพอต่อความต้องการอยู่แล้ว นอกจากนี้การดำเนินโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ไม่เคยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอีกทั้งคนในพื้นที่ยังไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเหล่านี้

นายมนตรีกล่าวต่อไปว่า มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นประเทศไทยซึ่งเป็นเพียงผู้ซื้อกระแสไฟฟ้าจึงไม่น่าจะเกี่ยวข้อง แต่ในความเป็นจริง นอกจาก กฟผ.จะเข้าไปร่วมลงทุนในการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีและเขื่อนท่าซางแล้ว การเข้าไปทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเหมือนกับการเข้าไปลงทุนทางอ้อม เนื่องจากกระบวนการทำสัญญานั้นถือเป็นผลประโยชน์ของโรงไฟฟ้าต่างๆ และต้นทุนในการซื้อกระแสไฟฟ้าทั้งหมดก็จะถูกนำมาคิดคำนวณในกระบวนการคิดราคาไฟฟ้าในประเทศด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนในประเทศโดยตรงทันที
แผนที่ระบุที่ตั้งของโครงการพลังงานไฟฟ้าในภาคเหนือทั้ง 7 แห่ง ภายใต้การดำเนินงานของ กฟผ.
นายมนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ)
กำลังโหลดความคิดเห็น