xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายประชาชนภาคใต้เรียนรู้กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิจากการปกป้องทรัพยากรฯ ร่วมสัมมนา “กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนฯ” การพิจารณาคดีควรคำนึงถึงสาเหตุการกระทำของประชาชนผู้ตกเป็นจำเลย โดยเฉพาะการกระทำที่มีเจตนาเพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศชาติ

วานนี้ (15 ก.ค.) ที่โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน และฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพ.ใต้) และศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้จัดเวทีสัมมนาอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิมนุษยชนภาคใต้ “เรียนรู้กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรภาคใต้” เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน และการใช้กระบวนการยุติธรรมกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่รวมกลุ่มกันพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในภาคใต้

ทั้งนี้ มีเครือข่ายประชาชนที่ต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วม ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด, เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา, เครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด, เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย, เครือข่ายคัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้ กรณีท่าเทียบเรือปากบารา, เครือข่ายรักษ์ละแม, เครือข่ายคัดค้านการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง และเครือข่ายอื่นๆ อีกกว่า 10 เครือข่าย

โดยได้มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์การถูกละเมิดสิทธิชุมชน และการใช้กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้ ตัวแทนจากครือข่ายต่างๆ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการการต่อสู้ เช่น กรณีการต่อสู้คัดค้านท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งคดีความที่ผู้ชุมนุมเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม โดยขณะนี้ ยังสืบพยานอยู่ในชั้นศาลทั้งที่ฟ้องมายาวนานเป็นเวลา 10 ปีแล้ว, กรณีชาวบ้านเทือกเขาบรรทัดโดนฟ้องในข้อหาทำให้โลกร้อน, ชาวบ้านที่เกาะยาว จ.พังงา ต้องถูกฟ้องคดีข้อหาบุกรุก ทั้งที่เป็นผู้ปกป้องป่าสงวนแห่งชาติ และการถูกฟ้องศาลแพ่งเป็นเงิน 64 ล้านของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาทั้งที่ปกป้องภูเขาที่เป็นสาธารณสมบัติ

พร้อมกันนี้ มีการแลกเปลี่ยนอภิปรายปัญหาและทางออก “กระบวนการยุติธรรมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร” โดยนางจินตนา แก้วขาว ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด-บางสะพาน, นายถาวร เกียรติทับทิว รองอธิบดีศาลปกครองสงขลา, นายนิตสิต ระเบียบธรรม อธิบดีอัยการ ภาค 9, ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ม.มหิดล/อนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและป่า และนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ

มีการเสนอมุมมอง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้พิทักษ์ทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเห็นว่า ปัญหาใหญ่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่พัฒนาประเทศในรูปแบบที่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายทุน มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่สนใจการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลต่อทัศนคติในการจัดการปัญหาในกระบวนการยุติธรรมในทุกระดับ โดยตัวแทนผู้พิพากษาได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีกฎหมาย และกลไกทุกอย่างครบแล้ว ขาดแต่การทำให้กฎหมายนั้นถูกบังคับใช้ได้จริง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นบรรทัดฐานของสังคม

ประเด็นที่สำคัญคือ ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นว่า การพิจารณาคดีควรคำนึงถึงสาเหตุการกระทำของประชาชนผู้ตกเป็นจำเลย โดยเฉพาะการกระทำที่มีเจตนาเพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศชาติ เช่น การดูแลบ้านเกิด การปกป้องป่าสงวน ให้แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป ไม่ตัดตอนพิจารณาเพียงเฉพาะเหตุการณ์นั้นๆ หรืออาจแยกเฉพาะเป็นศาลคดีป่าไม้-ที่ดิน รวมทั้งไม่สืบพยานเพียงในห้องพิจารณาคดี แต่เข้าไปสืบในที่เกิดเหตุเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงของปัญหา

ดังจะเห็นได้จากความแตกต่างของคำพิพากษากรณี “ล้มโต๊ะจีน” ซึ่งนางจินตนา แก้วขาว ตัวแทนชาวบ้านที่ถูกผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเป็นโจทก์ฟ้อง จากคำพิพากษาแสดงให้เห็นว่า ศาลชั้นต้นคำนึงถึงการปกป้องสิทธิชุมชนซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกากลับมีความเห็นเหมือนหน่วยงานรัฐทั่วไป นั่นคือ เห็นว่าการดูแลปกป้องบ้านเกิดของจำเลยไม่ใช่ประเด็นสาระสำคัญ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย ทั้งๆ ที่จำเลยยกประเด็นนี้มาต่อสู้อย่างชัดเจน แต่ศาลก็พิพากษาจำคุกจำเลยโดยไม่รอลงอาญา

และในวันนี้ (16 ก.ค.) จะมีการจัดสัมมนาเรื่อง การสร้างอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิชุมชนภาคใต้ โดยจะให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ร่วมเป็นอาสาสมัครในการปกป้องพิทักษ์สิทธิชุมชน ทำงานร่วมกับกรรมการสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ กป.อพช.ใต้ โทร.08-1599-8110


นักข่าวพลเมือง
โครงการบริโภคเพื่อชีวิตจังหวัดสงขลา




กำลังโหลดความคิดเห็น