ผู้บริหารเอสพีซีจี เล็งร่วมลงทุนข้ามชาติญี่ปุ่น-พม่า หลังไทยเข้าร่วม AEC คาดประชากรอาเซี่ยนต้องการพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น
น.ส.วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวบนเวที “ทิศทางพลังงานแห่งอนาคต ทางลบหรือทางเลือก” จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ว่า จากนโยบายของภาครัฐที่พยายามสนับสนุนการหาพลังงานทดแทนเพื่อนำมาใช้แทนพลังงานในปัจจุบันที่ค่อยๆ หมดไป โดยในปี 2551 ภาครัฐได้มีประกาศฉบับแรกในการให้อัตราส่วนเพิ่มแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน โดยขณะนั้น ได้ให้แอดเดอร์ 8 บาทเป็นเวลา 7 ปีให้แก่ทุกเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นไบโอแก๊ส ไบโอแมส ลม แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตนเองมีความผูกพันกับการทำเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ จึงได้ทำการศึกษา และพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
น.ส.วันดีกล่าวว่า ความแตกต่างของการผลิตไฟฟ้ากับการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานความร้อน (Termal) และแบบที่สอง คือ ในส่วนของเอสพีซีจีจะเป็นการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรง ด้วยวิธีการผ่านแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในขณะนั้น แม้รัฐบาลได้ออกนโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ก็ยังไม่มีผู้ริเริ่มโครงการในเชิงพาณิชย์เลย ตนจึงได้มีการศึกษาอย่างจริงจังและพัฒนาก่อนนำไปสู่ Business Model แต่การดำเนินงานเรื่องการหาผู้ร่วมลงทุน รวมถึงแหล่งเงินทุนจากแหล่งต่างๆ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเอสพีซีจีมีสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 34 โครงการมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 24,000 ล้านบาทซึ่งจะพัฒนาให้แล้วเสร็จในปี 2556
น.ส.วันดี กล่าวด้วยว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ และมีประชากรรวมทั้งสิ้นมากกว่า 600 ล้านคน และในอนาคตมีแนวโน้มประชากรเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยพลังงานเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีพในทุกภาคส่วนมีปริมาณจำกัด ขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นได้ลดการใช้นิวเคลียร์ลง และพยายามหาพลังงานทางเลือกอื่นมาทดแทน ซึ่งเวลานี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศถึงความต้องการในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มห รือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้าให้แล้วเสร็จในปี 2013 จำนวน 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเอสพีซีจีมีความสนใจที่จะเข้าไปร่วมพัฒนา โดยจะชักชวนบริษัทในคู่ค้า และร่วมกับธนาคารท้องถิ่นของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกับทางประเทศพม่า โดยเมืองย่างกุ้งมีการสนใจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 1,000 เมกะวัตต์ และเมืองมัณฑะเลย์มีความสนใจอีก 200 เมกะวัตต์ โดยทางเอสพีซีจีเตรียมที่จะไปดูงานศึกษาการลงทุนในเดือนสิงหาคมนี้