แพร่ - ชาวสะเอียบกว่า 700 คน รวมตัวประกอบพิธีสาปแช่งด้วยพริกเกลือ และปัสสาวะใส่หุ่นของนายปลอดประสพพร้อมจุดไฟเผา เป็นการใช้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมชุมชน ทำให้ผู้คิดร้ายกับหมู่บ้านและคณะมีอันเป็นไป โดยการประท้วงในครั้งนี้ยืนยันไม่ให้มีการสร้างเขื่อนในพื้นที่ ถ้ารัฐยังไม่ฟังจะไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบ
เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (28 ก.ย.) ชาวสะเอียบจำนวน 700 คน รวมตัวกันที่วัดดอนชัย หมู่ที่ 1 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ นำโดยนายสมมิ่ง แกนนำต้านเขื่อนรุ่นใหม่ นายอุดม ศรคำภา ที่ปรึกษากลุ่มต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมด้วยกรรมการหมู่บ้านดอนแก้ว ดอนชัย ดอนชัยสักทอง และบ้านแม่เต้น ต.สะเอียบ เดินถือป้ายประท้วงการสร้างเขื่อนไปตามเส้นทางสายสะเอียบ-เชียงม่วน
ขบวนทั้งหมดได้ไปหยุดที่บริเวณหอแดง ที่ตั้งศาลผีเข้าบ้าน เพื่อทำการประกอบพิธีพื้นบ้านสาปแช่ง และเปิดเวทีปราศรัยถึงเหตุผลของการต่อต้านเขื่อน โดยชาวสะเอียบแสดงจุดยืนว่า ไม่ให้มีการสร้างเขื่อนใดๆ ในต้นน้ำยมอีกต่อไป หลังจากที่รัฐบาลไม่ทำตามเงื่อนไขของคนในลุ่มน้ำที่ต้องการคลี่คลายปัญหาน้ำท่วมร่วมกัน คือ การกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็กทั้ง 77 แห่ง และกั้นเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง แต่ในที่สุด นายปลอดประสพ สุรัสวดี ได้ประกาศสร้างเขื่อนใหญ่ ซึ่งชาวบ้านไม่ต้องการและส่งผลกระทบทั้งชุมชนป่าไม้กว่า 30,000 ไร่
จากนั้น นายสมมิ่งได้อ่านประกาศแถลงการณ์ ของกลุ่มราษฎรรักษ์ป่ายืนหยัดต่อสู้ปกป้องป่าสักทองและชุมชนสืบไป
ในประกาศจุดยืน ได้มีข้อกำหนดห้ามข้าราชการ นักการเมือง ที่คิดสร้างเขื่อน เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากยังเข้ามาจะไม่รับรองความปลอดภัย โดยมีข้อเสนอทางออกให้คือ ในแม่น้ำยมยาว 735 กม. มีลำน้ำสาขาทั้งหมด 77 ลุ่มน้ำขนาดเล็ก การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกักน้ำได้ 11 ลุ่มน้ำเท่านั้น อีก 66 ลุ่มน้ำยังปล่อยเสรี ซึ่งในจำนวนนี้ส่งผลกระทบในปี 2554 และ 2555 อย่างเห็นได้ชัด ที่น้ำท่วมสุโขทัยเกิดจากน้ำทางตอนใต้ของแม่น้ำยม
หลังจากนั้นได้ช่วยกันนำเครื่องสาปแช่งด้วยพริกเกลือ และปัสสาวะใส่หุ่นของนายปลอดประสพ และจุดไฟเผา เป็นการใช้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมชุมชน ทำให้ผู้คิดร้ายกับหมู่บ้านและคณะมีอันเป็นไป โดยการประท้วงในครั้งนี้ถ้ารัฐยังไม่ฟังจะไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลต่อไป
หลังจากนั้นผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกันกลับ พร้อมกับได้ต้อนรับกลุ่มชาวบ้านในประเทศกัมพูชา ที่มาจากลุ่มน้ำเซซาน อ.เวินไซ จ.รัตนบุรี ประเทศกัมพูชา ซึ่งเดินทางมามอบกำลังใจและให้ความร่วมมือในการต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น
นางพอยสุด กลุ่มนักอนุรักษ์ชาวเขมรกล่าวว่า เป็นความพยายามของชาวบ้านนานกว่า 20 ปี ที่ร่วมกับทางราชการอนุรักษ์ป่าไม้สักผืนใหญ่ไว้ได้ นับเป็นความสำเร็จที่พยายามต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ให้สร้างทับพื้นที่ป่าสักทอง ซึ่งขอเรียกร้องประชาชนในอาเซียนร่วมกันหยุดยั้งการสร้างเขื่อนที่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเขื่อนไชยบุรีที่กั้นแม่น้ำโขง ชาวเอเชียต้องการแม่น้ำโขงมากกว่าเขื่อน
นอกจากนี้ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่ายังได้ออกคำประกาศว่า คำประกาศกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ยืนหยัดต่อสู้ ปกป้องป่าสักทองและชุมชนสืบไป 28 กันยายน 2555 ณ ขื่อเมือง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ว่า “ณ ที่แห่งนี้ ดินแดนชุมชนสะเอียบ บรรพบุรุษเราก่อตั้ง สร้างบ้านแปงเมืองมากว่า 200 ปี เราลูกหลานอยู่กันมาด้วยความผาสุกมาโดยตลอด ปี 2534 เราได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ซึ่งได้ร่วมกันปกป้องดูแล รักษาป่าสักทองผืนสุดท้ายของคนไทยทั้งชาติมาอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนั้นเราเคยได้ร่วมมือกับอธิบดีกรมป่าไม้ ที่ชื่อว่าปลอดประสพ สุรัสวดี ซึ่งเอาจริงเอาจังกับการรักษาป่าสักทองผืนนี้อย่างมุ่งมั่น แม้มีภัยคุกคามอย่างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมาย่างกราย เรากลุ่มราษฎรรักษ์ป่าก็ยืนหยัดต่อสู้มาอย่างเข้มแข็ง
มาบัดนี้ อดีตอธิบดีคนดังกล่าวเปลี่ยนไป โดยผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้นมาทำลายป่าสักทองผืนสุดท้ายที่เคยร่วมกันรักษามา ไม่เพียงป่าสักทองกว่า 24,000 ไร่เท่านั้นที่จะถูกน้ำท่วมอย่างถาวร ป่าเบญจพรรณอีกกว่า 30,000 ไร่ก็จะถูกตัดฟัน ล้างผลาญ ผืนดินจมอยู่ใต้เขื่อนแก่งเสือเต้นเช่นกัน และยังต้องอพยพพวกเราชาวสะเอียบ 4 หมู่บ้านอีกกว่า 1,000 ครอบครัว ท่วมที่ทำกินเราอีกกว่า 10,000 ไร่ รวมแล้วพื้นที่กว่า 65,000 ไร่จะต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำ อีกทั้งสัตว์ป่า แร่ธาตุ ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประเมินค่าไม่ได้ต้องจมอยู่ใต้เขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งยังเป็นการผลาญงบประมาณแผ่นดินอีกกว่า 20,000 ล้านบาท
เรากลุ่มราษฎรรักษ์ป่าได้เสนอทางออกและทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมมาหลายต่อหลายครั้ง เอกสารข้อเสนอทั้ง 8 ข้อ ก็ถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการพิจารณาเลย ทั้งที่คนทั้งบ้านทั้งเมืองก็รู้ว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้จริงอย่างที่กล่าวอ้าง นักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมก็เสนอทางเลือกอีกมากมายทำไมไม่เลือก หรือแนวทางอื่นๆ มันไม่ได้กินป่า หรืองบประมาณมันน้อยเกินไปจึงไม่เลือก
แม่น้ำยมยาวกว่า 735 กิโลเมตร เขื่อนแก่งเสือเต้นจะตั้งอยู่ที่ 115 กิโลเมตรทางตอนบนของลุ่มน้ำยม รับน้ำจาก 11 ลำห้วยสาขาเท่านั้น แล้วหากฝนตกใต้เขื่อนซึ่งยาวถึง 620 กิโลเมตร ที่เหลือทางตอนกลางและตอนล่าง ที่รับน้ำจาก 66 ลำน้ำสาขาใต้เขื่อน อย่างฝนที่ตกที่เด่นชัย วังชิ้น ศรีสัชนาลัย ซึ่งอยู่ใต้ลงไปจากจุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 100-200 กิโลเมตร แล้วเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมล่างจะแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้อย่างไร
เขื่อนแก่งเสือเต้นสูง 72 เมตร เขื่อนยมล่างอยู่ต่ำลงมาจากเขื่อนแก่งเสือเต้นเพียง 10 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม รอยเลื่อนแพร่ หากเขื่อนแตกมา คงไม่ตายเฉพาะคนเมืองสอง แต่คงตายกันทั้งเมืองแพร่
เขื่อนยมบนอยู่ห่างจากหมู่บ้านเราเพียง 2 กิโลเมตร หากเขื่อนแตกมา คงไม่ตายเฉพาะคนสะเอียบ คนเมืองสองคงต้องตายกันทั้งเมืองเช่นกัน เขื่อนเหล่านี้วนเวียนอยู่แถวนี้ และยังคงทำลายป่าสักทองเหมือนเดิม ทำไมไม่ไปสร้างที่ที่ไม่มีป่า หาเรื่องกินป่าสักทองอยู่ได้
ข้อเสนอ 1 ใน 8 ข้อ ของเราชาวบ้านกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า คือ สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก กระจายไปทั่วทั้งลุ่มน้ำยม หากสร้างได้สัก 70 อ่าง เฉลี่ยอ่างละ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็จะกักเก็บน้ำได้ถึง 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ทำไมไม่ทำ หรือไม่ได้กินป่า หรือ งบมันน้อยไม่พอกิน
เรากลุ่มราษฎรรักษ์ป่าขอยืนยันว่า เราจะร่วมกันปกป้องรักษาป่าสักทองและชุมชนของเราสืบต่อไป และจะต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จนถึงที่สุด
รมต.ปอดปะศพ นรกสำหรับสิ่งแวดล้อม คนอกตัญญูเยี่ยงนี้ไม่สมควรที่จะอยู่ต่อไป เรากลุ่มราษฎรรักษ์ป่าจึงขอสาปแช่ง ขอให้ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด พริก เกลือ ที่มอดไหม้ขอให้แสบร้อน อยู่ไม่เป็นสุข จงไปสู่นรกเถิด สาธุๆๆ
ด้วยจิตคารวะ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่”