ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชาวสะเอียบนัดรวมตัวเผาพริกเผาเกลือสาปแช่ง ก่อนจุดไฟเผาหุ่น “ปอด ปะศพ” 28 กันยายนนี้ หลังประกาศเดินหน้าสร้างเขื่อน-อ่างแก่งเสือเต้น ลุ่มน้ำยม
วันนี้ (25 ก.ย.) กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ออกแถลงการณ์ “ไว้อาลัย ปอด ปะศพ” ว่า ในวันที่ 28 ก.ย. 55 ที่จะถึงนี้กลุ่มราษฎรรักษ์ป่าฯ และเครือข่ายจะทำพิธีเผาหุ่น รมต.ปอด ปะศพ ในเวลา 10.00 น. ณ ขื่อเมือง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ทั้งนี้ขอให้ผู้เข้าร่วมเตรียมพริก เกลือมาด้วยเพื่อทำพิธีสาปแช่งก่อนเผา
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบมีขึ้นหลังนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เดินสายทัวร์น้ำท่วมลุ่มน้ำในภาคเหนือครั้งล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พร้อมกับประกาศเดินหน้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่อาจจะเปลี่ยนชื่อ หรือสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำยม ทั้งยมบน ยมกลาง และยมล่าง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งให้ได้ภายใน 3 ปี ช้าสุดไม่เกิน 5 ปี โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านใดๆ อีกต่อไป
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุอีกว่า กว่า 20 ปีมาแล้วที่กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ร่วมกันปกป้อง ดูแล รักษาป่าสักทองผืนสุดท้ายของคนไทยมาโดยตลอด ในครั้งนั้นเราเคยได้ร่วมมือกับอธิบดีกรมป่าไม้ที่ชื่อว่าปลอดประสพ สุรัสวดี ซึ่งเอาจริงเอาจังกับการรักษาป่าสักทองผืนนี้อย่างมุ่งมั่น แม้มีภัยคุกคามอย่างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น กลุ่มราษฎรรักษ์ป่าก็ยืนหยัดต่อสู้มาอย่างเข้มแข็ง
แต่บัดนี้อดีตอธิบดีคนดังกล่าวที่กลายเป็น รมต.เปลี่ยนไป โดยผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น มาทำลายป่าสักทองผืนสุดท้ายที่เคยร่วมกันรักษามา ไม่เพียงป่าสักทองกว่า 24,000 ไร่เท่านั้นที่จะถูกน้ำท่วมอย่างถาวร ป่าเบญจพรรณอีกกว่า 30,000 ไร่ก็จะจมอยู่ใต้เขื่อนแก่งเสือเต้นเช่นกัน และยังต้องอพยพพวกเราชาวสะเอียบ 4 หมู่บ้านอีกกว่า 1,000 ครอบครัว ท่วมที่ทำกินเราอีกกว่า 10,000 ไร่ รวมแล้วกว่า 65,000 ไร่ และสัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเมินค่าไม่ได้ ทั้งยังเป็นการผลาญงบประมาณแผ่นดินอีกกว่า 20,000 ล้านบาท คิดได้อย่าไร
ทั้งกลุ่มราษฎรรักษ์ป่าได้เสนอทางออก ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม มาหลายต่อหลายครั้ง เอกสารข้อเสนอทั้ง 8 ข้อก็ส่งถึงมือนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการพิจารณาเลย
ทั้งที่รู้ว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้จริงอย่างที่กล่าวอ้าง นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อมก็เสนอทางเลือกอีกมากมาย ทำไมไม่เลือก หรือแนวทางอื่นๆ มันไม่ได้กินป่า หรืองบประมาณมันน้อยหรืออย่างไรจึงไม่เลือก
โดยข้อเสนอ 1 ใน 8 ข้อของเราชาวบ้านกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า คือสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก กระจายไปทั่วทั้งลุ่มน้ำยม หากสร้างได้ 70 อ่าง เฉลี่ยอ่างละ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็จะกักเก็บน้ำได้ถึง 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ทำไมไม่ทำ หรือไม่ได้กินป่า หรืองบมันน้อยไม่พอกิน
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่าฯ ระบุในแถลงการณ์อีกว่า แม่น้ำยมยาวกว่า 735 กิโลเมตร เขื่อนแก่งเสือเต้น จะตั้งอยู่ที่ 115 กิโลเมตรทางตอนบนของลุ่มน้ำ รับน้ำจาก 11 ลำห้วยสาขาเท่านั้น แล้วหากฝนตกใต้เขื่อนซึ่งยาวถึง 620 กิโลเมตรที่เหลือทางตอนกลางและตอนล่าง รับน้ำจาก 66 ลำน้ำสาขา แล้วจะแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้อย่างไร