ศูนย์ข่าวศรีราชา - เทศบาลนครแหลมฉบัง และท่าเทียบเรือภาคเอกชนผนึกกำลังในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนบ้านอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ได้เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่บ้านอ่าวอุดมว่าได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการท่าเรือซึ่งมีอยู่ 6 ท่าในพื้นที่ จึงได้ประสานกับเทศบาลนครแหลมฉบังจัดประชุมเพื่อสอบถามความคิดเห็น และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างประชาชน และผู้ประกอบกิจการ ซึ่งปัญหาร้องเรียน ได้แก่ 1.ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากกรณีสะพานท่าเรือยื่นออกไปในทะเล ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง
2.ฝุ่นละอองจากการขนถ่ายสินค้าเกษตรกรรม และกะลาปาล์มที่มีการดำเนินการในที่โล่ง ทำให้ประชาชนใกล้เคียงเกิดอาการเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ และปอดอักเสบจำนวนมาก นอกจากนี้ ฝุ่นจากกะลาปาล์มได้ปลิวเข้าสู่ชุมชนเกิดสภาพสีดำสกปรกไปทั่วบริเวณชุมชน 3.ปัญหาการจราจรทางบกติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น โดยถนนหายไป 2 เส้นทาง เนื่องจากมีรถบรรทุกสินค้าวิ่งเข้าออกผ่านชุมชนจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง
4.เรือบรรทุกสินค้าได้ทอดสมอเรือกีดขวางเส้นทางการทำมาหากินของประมงพื้นบ้านทำให้หากินไม่ได้ เกิดอุบัติเหตุทางน้ำบ่อยครั้ง 5.ปัญหาที่ทำมาหากินในทะเลลดน้อยลง เนื่องจากสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลงในทะเล เรือสินค้าเพิ่มมากขึ้นทำให้เมื่อเข้ามารอรับสินค้าต้องทอดสมอเรือในพื้นที่ทำมาหากินของประมงพื้นบ้าน 6.ปํญหาการล่มสลายของชุมชน ประชาชน และชาวประมงหมดอาชีพในการทำมาหากินเนื่องจากระบบนิเวศเปลี่ยน สัตว์น้ำมีจำนวนลดลง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาคนต่างด้าวเข้ามาแย่งที่ทำกิน และเกิดอาชญากรรม และยาเสพติดในพื้นที่
จากการประชุมหารือร่วมกันทั้งภาคประชาชน ภาคผู้ประกอบการ และหน่วยราชการมีความเห็นร่วมกันว่า การที่ผู้ประกอบการได้เข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมชุมชนบ้านอ่าวอุดมจะต้องทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่น และไว้วางใจต่อการดำเนินการของท่าเทียบเรือ โดยที่ประชุมมีข้อตกลง และเห็นชอบร่วมกันในเบื้องต้นดังนี้
1.การประกอบกิจการขนถ่ายสินค้าของท่าเทียบเรือ ในพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง จะต้องดำเนินการตามกฎหมายของพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย และปฎิบัติตามมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หากพบว่า ท่าเทียบเรือดำเนินการผิดกฎหมายดังกล่าวต้องทำการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องทันที
2.ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยราชการ ผู้ประกอบการ และประชาชน จะจัดทำธรรมนูญ หรือบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อใช้เป็นหลักปฎิบัติระหว่างชุมชน และท่าเทียบเรือ ทั้งนี้ขอให้กรมเจ้าท่านำข้อตกลงดังกล่าวเป็นเงื่อนไขแนบท้ายสำหรับการต่ออายุใบอนุญาตของท่าเทียบเรือในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป 3.ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนร้องเรียนต้องนำมาหารือ และได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน
4.เทศบาลนครแหลมฉบังจัดตั้งคณะกรรมการพหุพาคีเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชน และสังคมโดยรอบท่าเทียบเรือ ประกอบด้วย หน่วยราชการท้องถิ่น และส่วนกลาง ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือในพื้นที่ 6 แห่ง ประธานชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 7 ชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างกันอย่างต่อเนื่องในการกำหนดแนวทางการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนกำหนดแนวทางในการพัฒนาชุมชน และสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยปราศจากความขัดแย้ง และให้เกิดความยั่งยืนของชุมชน
5.จัดตั้งกองทุนเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรอบท่าเทียบเรือ ทั้งนี้ ผู้ประกอบทุกท่าเทียบเรือที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมดเห็นด้วยในการที่จะแชร์งบประมาณร่วมกันจัดตั้งกองทุนขึ้น โดยจะดำเนินการไปด้วยกันในฐานะเพื่อนของชุมชน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการพหุภาคีจะเป็นผู้กำหนดทิศทางในการใช้งบประมาณดังกล่าวในการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชุมชนและสังคมต่อไป
6.ท่าเทียบเรือทุกแห่งพร้อมเปิดบ้านให้ประชาชน และคณะกรรมการเข้าเยี่ยมชมและตรวจสอบการปฎิบัติงานของท่าเทียบเรือได้ตลอด ผลการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ท่าเทียบเรือได้มอบหมายให้บุคคลที่ 3 มาตรวจติดตามต้องนำมาเสนอ และแสดงต่อคณะกรรมการพหุพาคีทุกครั้ง หากมีข้อขัดแย้งต้องดำเนินการพิสูจน์ร่วมกัน
สำหรับบันทึกข้อตกลง หรือธรรมนูญนั้นจะมีการประชุม และร่วมกันในการยกร่างเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติซึ่งจะต้องได้รับการยอมรับทั้งผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป