xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย “เนวิน” ยึด อบต.บุรีรัมย์ - ตร.คุมเข้มหวั่นไข้โป้งระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิรัตน์ จันทนฤกษ์  ผอ.กต.ประจำจ.บุรีรัมย์
บุรีรัมย์ - เด็ก“ภูมิใจไทย” เครือข่าย “เนวิน” ผงาดยึดนายกอบต.บุรีรัมย์ ขณะอดีตนายกฯ อกหักเพียบ ส่วน ส.อบต.มี 7 เขต คะแนนเท่ากันต้องจับสลาก ด้าน กกต.บุรีรัมย์ เผยเลือกตั้ง อบต. 58 แห่ง ใน 19 อำเภอ ใช้สิทธิพุ่งกว่า 70 % รับร้องเรียน 6 เรื่อง ขณะตร.คุมเข้มหลังเลือกตั้ง หวั่นไข้โป้งระบาด พร้อมจับตาซุ้มมือปืนในทุกพื้นที่อำเภอ แฉซื้อเสียงระบาดหนัก เงินสะพัดกว่า 200-300 ล้าน

วันนี้ (1 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) 58 แห่ง ใน 19 อำเภอ ของ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา มีผู้สมัครนายก อบต. 92 คน ส่วนผู้ ส.อบต. 3,395 คน ซึ่งผู้สมัครนายก อบต. และสมาชิก อบต. มาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งอดีตนายก อบต. , รอง นายก อบต. , สมาชิก อบต. , กำนัน , ผู้ใหญ่บ้าน , ข้าราชการบำนาญ และนักธุรกิจ

ผลการเลือกตั้งนายก อบต.ปรากฏว่า ผู้ได้รับการเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นอดีตนายกอบต.และผู้สมัครหน้าใหม่ และมีอดีตนายก อบต.สอบตกกว่า 40 % ซึ่งผู้ชนะล้วนเป็นคนของนักการเมืองในพื้นที่โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย และมีบางส่วนที่ไม่มีการเปิดเผยตัวอย่างชัดเจน แต่เป็นที่รู้จักกันดีของคนในจังหวัด ทำให้การแข่งขันเข้มในหลายพื้นที่

ส่วนผลการเลือกตั้ง ส.อบต. ผู้ชนะการเลือกตั้งส่วนใหญ่ ล้วนเป็นเครือญาติกัน และได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองในพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเลือกตั้งคราวนี้สุภาพสตรีได้รับเลือกตั้งเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมืองไม่แพ้ชาย

อย่างไรก็ตาม จากผลการเลือกตั้ง ส.อบต.ปรากฏว่า มี 7 หน่วยเลือกตั้ง ที่ผู้สมัครสมาชิก อบต.ได้คะแนนเท่ากัน จึงต้องมีการจับสลากหาลำดับที่ 2 เพียงคนเดียว โดย กกต.จังหวัด มอบหมายให้ ผอ.กกต.ท้องถิ่นแต่ละแห่ง ดำเนินการจับสลากหาผู้ชนะ ภายใน 3 วัน นับแต่วันเลือกตั้งหรือทราบผลคะแนน ซึ่งหากผู้สมัครคนใดไม่มาจับสลาก ทาง ผอ.กกต.ท้องถิ่น จะเป็นผู้จับสลากแทน เพื่อป้องกันการซื้อตำแหน่งสมาชิก อบต.เกิดขึ้น

ทางด้าน นายอภิรัตน์ จันทนฤกษ์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง(ผอ.กต.)ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า
การเลือกตั้ง นายก อบต. และ ส.อบต. จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง 58 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นทั้งก่อน และหลังการเลือกตั้ง ซึ่งมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ คิดเป็นร้อยละกว่า 70 %

ทั้งนี้ ตั้งแต่เปิดรับสมัครจนถึงขณะนี้ มีเรื่องร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามายัง กกต.แล้ว 6 เรื่อง
เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐวางตัวไม่เป็นกลาง การสัญญาว่าจะให้ และการซื้อเสียง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนของ กกต.

อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครคนใดเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม พบเห็นมีการทุจริตสามารถนำพยาน หลักฐานมาร้องเรียนได้ที่ กกต.จังหวัด ภายใน 30วัน เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ส่งเรื่องให้ กกต.กลางพิจารณาต่อไป

ด้าน พ.ต.อ.วิรัตน์ ถาดทอง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (รอง ผบก.ภ.จว.) บุรีรัมย์ และเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งทางตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง หากผู้สมัครคนใดที่ได้รับเลือกตั้ง หรือไม่ได้รับเลือกตั้ง หวั่นเกรงจะไม่ได้รับความปลอดภัย สามารถร้องขอกำลังตำรวจคุ้มครองความปลอดภัยได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งจุดสกัดตามเส้นทางที่คาดว่ากลุ่มคนแปลกหน้า ที่คิดว่าเป็นมือปืนจะเข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งกวาดล้างอาชญากรรมจับกุมกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพ ผู้ค้า ผู้เสพสิ่งเสพติดทุกประเภท รวมไปถึงผู้มีคดีค้างเก่า และซุ้มมือปืนในทุกพื้นที่อำเภอด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้ง นายกอบต.และ ส.อบต.ทั้ง 58 แห่ง ใน 19 อำเภอ ครั้งนี้มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงของกลุ่มผู้สมัครที่เคยอยู่กลุ่มเดียวกันมาก่อน แต่มาคราวนี้แยกตัวออกมาลงสมัครแข่งขันกันเอง และได้รับแรงสนับสนุนจากนักการเมืองระดับจังหวัดและระดับชาติทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เข้มข้น

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ผู้สมัครบางกลุ่มทุ่มเงินซื้อเสียงอย่างหนักเต็มพื้นที่ถึงหัวละ 300-500 บาท โดยจ่ายก่อนวันเลือกตั้ง และจ่ายซ้ำในวันเลือกตั้ง ทำให้มีกระแสเงินสะพัดในรูปแบบต่างๆ ช่วงการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาท
พ.ต.อ.วิรัตน์ ถาดทอง  รอง ผบก.ภ.จว. บุรีรัมย์
กำลังโหลดความคิดเห็น