ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กรมชลประทานชี้แจง โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ชาวบ้านย้ำขอมีส่วนร่วมออกแบบการพัฒนาลำพะเนียงด้วยตนเอง ซ้ำต้องการให้แก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เป็นภารกิจแรก
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ห้องประชุมณัฐพงษ์ 1 โรงแรมณัฐพงษ์แกรนด์ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู รศ.ดร.ประสิทธิ์ ประคองศรี ที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบำลำภูได้ชี้แจงปฐมนิเทศโครงการฯ ต่อหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียงร่วม 200 คนว่า โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ที่ทางกรมชลประทานร่วมกับ บ.พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอลซัลแตนท์ จำกัดทำการศึกษานั้น เพื่อต้องการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งใน จ.หนองบัวลำภู อย่างเป็นระบบและยั่งยืน
การศึกษาเริ่มตั้งแต่การจัดทำแผน การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การออกแบบรายละเอียดการปรับปรุงขยายลำน้ำพะเนียง การประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะตระเวนชี้แจงโครงการกับประชาชนทั้ง 6 อำเภอของ จ.หนองบัวลำภู เพื่อรับฟังความคิดเห็น
“ทางคณะทำงานต้องการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาลำน้ำพะเนียงอย่างจริงจัง โดยต้องการให้เกษตรกรได้ใช้น้ำจริง ๆ จากระบบชลประทานที่มีอยู่ และจะชี้แจงโครงการและฟังความคิดเห็นในทุกๆ อำเภอ” รศ.ดร.ประสิทธิ์กล่าว
ด้าน นายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู ได้ให้ความเห็นว่า การจะศึกษาการพัฒนาลำน้ำพะเนียงนั้น ต้องศึกษาและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาขุดลอกครั้งที่แล้วก่อน ทั้งการพังทลายของหน้าดินริมตลิ่ง ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถใช้น้ำได้เนื่องจากคันดินที่สูงเกือบ 2-3 เมตร ที่ถูกขุดขึ้นมาขวางทางใช้น้ำ อีกทั้งยังขวางทางระบายน้ำที่จะไหลลงลำน้ำสาขา จนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและยาวนานยิ่งไปอีก
ที่สำคัญการพัฒนาลำน้ำลำพะเนียงนั้นจะต้องถูกออกแบบโดยชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ และให้เหมาะสมตามระบบนิเวศดั้งเดิมของพื้นที่ ผ่านรูปแบบการจัดการน้ำขนาดเล็กโดยชุมชน
นายวิเชียรกล่าวย้ำว่า การพัฒนาหรือเพิ่มเติมอะไรนั้น ก่อนอื่นต้องแก้ไขปัญหาผลกระทบเดิมก่อน ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการขุดลอกครั้งก่อนตอนนี้ก็ยังเดือดร้อนอยู่ ที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยให้ประชาชนได้ร่วมจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำของตัวเองเลย คิดเอง ทำเองหมด ปัญหาถึงได้เกิดอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องจัดการทรัพยากรด้วยตัวเอง เพราะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รู้สภาพปัญหาของพื้นที่ดีที่สุด