อุดรธานี - ชาวบ้านบ้านดงมะไฟ หนองบัวลำภู ยื่นหนังสือร้องศาลปกครองอุดรธานี เพิกถอนใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนทำเหมืองหิน หลังพบหน่วยงานรัฐนับตั้งแต่รัฐมนตรียันผู้ว่าราชการจังหวัด อนุมัติให้ใช้พื้นที่ผิดขั้นตอน แถมลักลั่นไม่จัดเวทีรับฟังความเห็นของชาวบ้าน กระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (19 ก.ย.) ที่ศาลปกครองอุดรธานี นายบรรพต เตชะศรี อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 91 หมู่ 11 บ้านนาเจริญ ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วยนายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ตัวแทนสภาทนายความ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านตำบลดงมะไฟ และตำบลบ้านโคก อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมลงรายชื่อ 78 คนเข้ายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้บริษัท ช.ศิลาสุวรรณ (2552) จำกัด ทำเหมืองแร่หินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมกันนี้ได้ยื่นฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 1 อธิบดีกรมป่าไม้ จำเลยที่ 2 และผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู จำลอยที่ 3 ซึ่งออกคำสั่งมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหาย และขอให้ศาลปกครองคุ้มครองการทำเหมืองแร่หิน จนกว่าคดีจะสิ้นสุด
นายบรรพต เตชะศรี เปิดเผยว่า ชาวบ้านขอความเป็นธรรมจากศาลปกครอง เนื่องจาก รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมป่าไม้ และผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมกันออกใบอนุญาตให้บริษัท ช.ศิลาสุวรรณ (2552) จำกัด ทำเหมืองแร่หินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในลักษณะที่ไม่โปร่งใส
จากกระบวนการออกใบอนุญาตไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คือ เริ่มตั้งแต่การประชุมในหมู่บ้านที่ชาวบ้านไม่มีส่วนรู้เห็น ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ก่อนที่จะดำเนินโครงการทำเหมืองแร่หินดังกล่าว
ทั้งมี อบต.บางรายแอบเอารายชื่อชาวบ้านไปอ้างว่ามีการทำประชาคมกันแล้ว ซึ่งป่าเก่ากลอย และป่านากลาง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าภูผาฮวกแห่งนี้ เป็นภูเขาแห่งเดียวที่เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านได้อาศัยทำมาหากินเก็บของป่ามาเลี้ยงชีพ การที่รัฐจะยกภูเขาทั้งลูกเอาไปให้เอกชนหาผลประโยชน์เพียงรายเดียวนั้นไม่ถูกต้อง ชาวบ้านที่เคยอยู่กับป่าแห่งนี้มานาหลายปีจะทำอย่างไร
นายบรรพตกล่าวต่อว่า เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า 1. ใบอนุญาตขัดกับระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 เนื่องจากเป็นการอนุญาตทั้งที่ยังมีความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่และองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ ไม่ได้ให้ความเห็นชอบ
2. การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามออกใบอนุญาตให้เอกชนเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดี ประชาชนและชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ เป็นการละเมิดต่ออสิทธิ การมีส่วนร่วมของผู้ฟ้องคดีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และมาตรา 67 ได้รับรองและคุ้มครองไว้
3. การออกใบอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองแร่หินกำหนดระยะเวลานานกว่า 10 ปี ทั้งที่เป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีความหลายหลายทางพรรณไม้พรรณพืชสมุนไพร เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำที่สำคัญและมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นั้น กระทบต่อชุมชน ไม่อาจเข้าไปใช้ประโยชน์ในด้านอาหาร แหล่งน้ำ และแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน เป็นการทำลายวิถีชีวิตของชุมชนที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และสร้างความเดือดร้อนเสียหายกับประชาชนชุมชนยิ่งกว่าประโยชน์ที่รัฐจะได้รับตอบแทน