xs
xsm
sm
md
lg

เถ้าแก่ลำไยอบแห้ง ชร.กระอักซ้ำ รบ.เพื่อไทยยังไม่ช่วย-ขู่บุกกรุงพบ “ปู” โดยตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - เถ้าแก่ลำไยอบแห้งเมืองพ่อขุนฯ ช้ำหนัก รวมตัวทวงคำตอบมาตรการช่วยเหลือจากจังหวัดฯ ที่เคยรับปากเสนอเรื่องให้ ครม.พิจารณาวันนี้ (25 ก.ย.) ผิดหวังซ้ำ แถมผู้บริหารระดับสูงเลี่ยงเผชิญหน้า ส่ง จนท.ชี้แจงแทน บอกส่งเรื่องให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องแล้วแต่ไม่มีคำตอบกลับขอให้รออย่างเดียว จนต้องถอยกลับมาตั้งหลักหารือกันใหม่ ก่อนลงมติตั้งชมรมฯ ขึ้นต่อรอง พร้อมประสานเถ้าแก่ 8 จว.เหนือบุกกรุงขอพบ “ปู” โดยตรงก่อนประชุม ครม.สัปดาห์หน้า ย้ำลำไยแห้งล้นสต๊อก เหตุรัฐบาลเพื่อไทย “ลอยแพ” หลอกซื้อนำตลาดแก้ปัญหาชาวสวนเอาหน้ารอด

วันนี้ (25 ก.ย.) ที่ห้องประชุมพวงแสด ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการที่รับซื้อลำไยอบแห้งจากเกษตรกรใน จ.เชียงรายประมาณ 50 คน ได้รวมตัวกันไปทวงคำตอบจากจังหวัดเชียงรายที่รับปากจะเสนอปัญหาเรื่องลำไยอบแห้งคงค้างในโกดังหรือสต๊อกของผู้ประกอบการกว่า 5 ล้านกิโลกรัมเพื่อเสนอเข้า ครม.ในวันนี้ หลังจากผู้ประกอบการเข้ารับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรในราคานำตลาด ตามคำขอของหน่วยงานราชการเพื่อช่วยพยุงราคาลำไยสดให้สูงขึ้น โดยหวังว่ารัฐบาลจะจัดหาตลาดลำไยอบแห้งให้ตามคำสัญญาจนต้องชุมนุมประท้วงกันมาแล้วหลายรอบ

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ทางจังหวัดฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ให้ผู้บริหารไปรับเรื่อง แต่ให้เจ้าหน้าที่ไปชี้แจงแทน โดยทางเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย ระบุว่าหลังจากผู้ประกอบการได้นำเสนอปัญหาก็ได้มีการนำเสนอต่อจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว

แต่ทางผู้ประกอบการก็ได้รับทราบข่าวว่า คณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการรับเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการพิจารณาแต่อย่างใดด้วย

นางสมพิศ แสงออมสิน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตร จ.เชียงราย ชี้แจงต่อผู้ชุมนุมว่า ยอมรับว่าปีนี้เป็นปีแรกที่ราคาลำไยอบแห้งตกต่ำ จึงได้รับเรื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการมาตั้งแต่ต้น จากนั้นได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว รวมถึงนายวรวัฒน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เคยประชุมร่วมกับกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ จ.เชียงราย ด้วย จึงขอให้ผู้ประกอบการทั้งหมดรอผลการดำเนินการต่อไป เพราะเจ้าหน้าที่ใน ระดับปฏิบัติงานในจังหวัดได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว

ทั้งนี้ กรณีที่มีข้อมูลว่าจะมีตลาดลำไยอบแห้งกว่า 60,000 ตัน และลำไยสดช่อกว่า 200,000 ตันรองรับนั้น อย่าว่าแต่ลำไยอบแห้งเลย แม้แต่ลำไยสดก็ยังไม่มีการรับซื้อ เพราะแนวทางที่เคยดำเนินการ เช่น ให้กองทุนหมู่บ้านเข้ารับซื้อปรากฏว่ากฎหมายไม่เปิดให้ทำได้ ฯลฯ

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลังจากรับทราบว่าคณะรัฐมนตรีไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ และไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการแสดงความกังวลและวิพากษ์กันอย่างหนัก โดยส่วนใหญ่มองว่าเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อนราคาลำไยดิบเป็นไปตามกลไกตลาด ต่อมาทางเกษตรกรได้เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องราคาให้สูงขึ้น โดยเจรจาขอให้ทางผู้ประกอบการช่วยรับซื้อในราคาสูงด้วย โดยมีผู้ประกอบการบางรายที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาลในการรับซื้อนำตลาดนำร่อง ทำให้ผู้ประกอบการคนอื่นๆ ต้องรับซื้อในราคาสูงตามกันไป เพราะเชื่อในมาตรการหาตลาดลำไยอบแห้งของรัฐบาล รวมทั้งหากไม่รับซื้อเท่ารายอื่นๆ ก็จะถูกเกษตรกรกดดันได้ ต่อมาเมื่อมีปัญหานำลำไยมาอบแห้งแล้วขายไม่ได้ ก็ได้มีการเสนอปัญหาให้รัฐบาลรับทราบมานานกว่า 1 เดือนแล้วด้วย

และเมื่อ ครม.ไม่นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาตามคำร้องขอ ทางผู้ประกอบการจึงได้มีการจัดตั้งเป็นชมรมโดยให้นายมงคล จันจินะ กำนัน ต.เมืองพาน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้วยเป็นประธานชมรมผู้ประกอบการลำไยอบแห้ง จ.เชียงราย เพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อไป

และท้ายที่สุดเมื่อไม่ได้คำตอบใดๆ จากทางจังหวัดฯ กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รวมตัวก่อตั้งเป็นชมรมฯ แล้วได้หารือกันภายในชมรมฯ และได้ข้อสรุป 3 ข้อ คือ 1. ชมรมฯ จะประสานกับผู้ประกอบการทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือเพื่อเคลื่อนไหวไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ 2. ผู้ประกอบการมีกำหนดจะเดินทางไปชุมนุมเรียกร้องที่กรุงเทพฯ เพื่อพบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 2 ต.ค. 55 นี้ และ 3. เรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณชดเชยราคาลำไยอบแห้งให้ผู้ประกอบการ เกรดเอเอกิโลกรัมละ 20 บาท เกรดเอ 15 บาท และเกรดบี 10 บาท จากราคาที่ขายตามท้องตลาด เพราะราคาต้นทุนอยู่ที่เกรดเอเอกิโลกรัมละ 82 บาท เกรดเอ 38 บาท และเกรดบี 22 บาท หรือหากจะมีการหาตลาดรับซื้อลำไยอบแห้งบรรจุกล่องก็ขอให้ได้เกรดเอเอกิโลกรัมละ 85 บาท เกรดเอ 45 บาท และเกรดบี 25 บาท

นายมงคลกล่าวว่า ช่วงที่รอการนี้ให้ทางผู้ประกอบการแต่ละอำเภอไปติดต่อกับบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เชียงราย ในพื้นที่ว่าพอจะประสานไปยังรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือได้อย่างไร ส่วนตนจะประสานกับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือเพื่อกำหนดรายละเอียดการเคลื่อนไหวต่อไป

ขณะที่นายราชารัก มาสมจิต ผู้ช่วยเลขานุการชมรมฯ กล่าวว่า ในฤดูกาลเก็บผลผลิตลำไยที่ผ่านมาหากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดก็คงไม่มีปัญหา และผู้ประกอบการก็คงจะสามารถอยู่ได้เหมือนปีก่อนๆ เพราะเรารับซื้อและนำไปอบก่อนขายให้ตลาดรับซื้อในราคาที่สมดุลกัน แต่ในปีนี้รัฐขอให้เราเข้าไปแทรกแซงราคาด้วยการรับซื้อในราคาที่สูง ซึ่งแม้ว่าหลายรายจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการแต่ก็ก่อให้เกิดภาวะตลาดตื่นข่าว และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็เป็นเครือข่ายถึงกันหมดจึงรับซื้อในราคาที่รัฐร้องขอ แต่ท้ายที่สุดก็รู้แล้วว่าการเอ็นดูเขานั้นทำให้พวกเราลำบากจริงๆ

“พวกเราจะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีโดยตรงในรายการนายกฯ พบประชาชนก็ได้ อย่าให้พวกเราต้องรออย่างลมๆ แล้งๆ หรือไม่งั้นก็ให้นายวรวัฒน์มารับเรื่องก็ได้” นายราชารักกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น